นครราชสีมา 22 ส.ค. – ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาภาคอีสานเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เร่งรัดแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี-มูล
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เกี่ยวกับทิศทางพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีประชาชนและพื้นที่มีสัดส่วน 1/3 ของทั้งประเทศ ขณะที่จีดีพีภาคอีสานกลับมีสัดส่วนเพียง 1/10 ของประเทศ นับว่าขนาดเศรษฐกิจยังต่ำ เนื่องจากปัญหาความยากจน เผชิญธรรมชาติทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมบ่อยครั้ง จึงต้องพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสารคาม เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นจุดยุทธศาตร์สำคัญ จึงต้องการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
สำหรับการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอและยั่งยืน ทั้งแหล่งน้ำใหม่และแหล่งน้ำเดิม 2.การแก้ปัญหาความยากจน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสร้างอาชีพให้คนพิการ การพัฒนาอาชีพผ่านเพิ่มเติมความรู้ 3.การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิแบบอินทรีย์ การส่งเสริมปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์มากที่สุด 4. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เพื่อเชื่อมไปสู่ภาคกลางและภาคตะวันออก 5. การร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดน
นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.รับทราบผลประชุม กรอ.ภูมิภาค เพื่อสั่งการให้แก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล เพื่อเร่งรัดให้เร็วกว่าแผนเดิมระยะเวลา 8 ปี สำหรับบริเวณลำน้ำชี บริเวณวังสะพุง ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ให้ศึกษาเลื่อนพื้นที่ลงมาไม่ให้อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ การพัฒนาประตูน้ำปากน้ำสงคราม เพื่อกักเก็บน้ำให้อยู่ในประเทศไทย หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก ผ่านการขุดแก้มลิงแบบขนมครกให้มีแก้มลิงกระจายไปหลายแห่ง โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนท้องถิ่นสำหรับเครื่องขุด เครื่องจักรในการสร้างแก้มลิง นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำการปลูกต้นไม้ยืนต้นกระจายไปทั้งในเมืองและเขตชนบท ด้วยมาตรการทางภาษี ย้ำว่าการปลูกต้นไม้ยืนต้นไม่ใช่การปลูกต้นกล้วยเพื่อลดหย่อนภาษี และสั่งการให้ทหาร ร่วมกับกระทรวงคมนาคมพัฒนาเส้นทางชนบท 189 เส้นทาง เพื่อเชื่อมชุมชนกับเมืองใหญ่ หวังส่งเสริมการท่องเที่ยวกับการขนส่งของชาวบ้านด้วยการนำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมในการซ่อมถนน สำหรับรถไฟทางคู่ยกระดับข้ามเมืองโคราชนั้น นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาเพิ่มเติม.- สำนักข่าวไทย