กรุงเทพฯ 17 ส.ค. – “เทวินทร์” ซีอีโอ ยิ้มรับผลกำไรครึ่งปีแรก ชี้ชัดผลการดำเนินการ “กลับสู่ภาวะปกติ” หลังกำไรสุทธิครึ่งแรกทะลุกว่า 7.74 หมื่นล้าน พร้อมปรับองค์กรรองรับวิกฤติการใช้น้ำมันลด หลังเกิดเทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงานทดแทน ส่วนแยกบัญชีท่อก๊าซฯ จะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปีนี้
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ปตท.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 77,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,937 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.6 จาก 48,548 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 แสดงให้เห็นว่าผลการดำเนินการกำลังกลับมาสู่ภาวะปกติ หลังจากช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่ลดต่ำ ทำให้กลุ่ม ปตท.ต้องตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ อย่างไรก็ตาม กำไรทั้งปีนี้จะปรับขึ้นเป็นกว่า 100,000 ล้านบาทในอดีตรหรือไม่ ไม่สามารถระบุได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทในกลุ่ม ปตท.ได้ดำเนินการด้านการลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและมองหาธุรกิจใหม่ จนทำให้ผลดำเนินการดีขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายให้มีกำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBIT) ที่เกิดจากประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจที่ 28,700 ล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีทำได้แล้ว 13,077 ล้านบาท หรือร้อยละ 46 จากเป้าหมาย ขณะที่ EBIT รวมช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 130,504 ล้านบาท
นายเทวินทร์ กล่าวด้วยว่า กลุ่ม ปตท.ระดมความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงและกรรมการบริษัท เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนองค์กรให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติภายใต้ความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน และเป็นกลไกในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในอนาคต กำหนดกรอบการลงทุนสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDG) มุ่งเน้นการลงทุนที่ให้สังคมและชุมชนมีส่วนร่วม (Inclusive Business) มากขึ้น โดยเฉพาะทิศทางกลยุทธ์ด้าน Treasure กลุ่ม ปตท.ได้ใช้แนวทาง “PTT 3D” อย่างต่อเนื่องควบคู่กับกลยุทธ์การเป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ (Pride) โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้ทิศทางยุทธศาสตร์ชาติสู่ไทยแลนด์ 4.0
แนวทาง PTT 3D ได้แก่ กลยุทธ์ Do Now คือ การมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ, Decide Now เป็นการขยายการเติบโตที่ต้องเร่งตัดสินใจ และ Design Now คือ การเร่งสร้างธุรกิจใหม่ให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต โดยการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบสนองทิศทางโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าด้านไฟฟ้า (Electricity Value Chain) และธุรกิจใหม่ภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าด้านชีวภาพ (Bio-Based Value Chain) เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.เตรียมลงทุนใน 5 ปี (2560 – 2564) โดยเน้นลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย โครงการคลังแอลเอ็นจี โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โครงการปรับปรุงโรงกลั่นและปิโตรเคมี และโครงการธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เช่น โครงการของแนฟทาแครกเกอร์ ของ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล ที่จะก่อสร้างรองรับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงวางแผนลงทุนเสร็จปี 2563 ที่จะมีกำลังผลิตเอทิลีน 500,000 ตัน/ปี โพรไพลีน 260,000 ตัน/ปี โครงการขยายกำลังผลิตของ บมจ.ไทยออยล์ที่จะเพิ่มกำลังกลั่นจาก 275,000 ตัน/ปี เป็น 400,000 ตัน/ปี ก่อสร้างเสร็จปี 2564 ,โครงการของ Fully Integrated Polypropylene ของ บมจ.ไออาร์พีซี ขยายกำลังผลิตจาก 480,000 เป็น 780,000 ตัน/ปี เป็นต้น อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Industry) หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Robotics) รวมทั้งโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่ง ปตท.ลงนาม MOU ร่วมกับ สวทช.และองค์กรสนับสนุน 50 หน่วยงานในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ
นอกจากนี้ ปตท.เตรียมตั้งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) เพื่อเป็นศูนย์กลางที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดโครงสร้างธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนจัดโครงสร้าง “กองทุนร่วมลงทุน” (Corporate Venture Capital หรือ CVC) และ “ทีมสรรหาธุรกิจใหม่” (Express Solutions หรือ ExpresSo) เพื่อลงทุนต่อยอดธุรกิจในอนาคต ซึ่งได้มีการร่วมลงทุนไปแล้ว 4 กองทุนในสหรัฐ วงเงินประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาแข่งขันด้านธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) และให้ ปตท.เตรียมแยกท่อก๊าซฯ นั้น นายเทวินทร์ กล่าวว่า ปตท.เตรียมแผนแยกท่อก๊าซ โดยจะแยกบัญชีเสร็จสิ้นปีนี้ แต่จะแยกออกเป็นบริษัทหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล เพราะหากแยกจะมีภาระภาษี ซึ่งส่วนนี้จะตกอยู่ในกิจการท่อก๊าซฯ ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ ขณะที่ กฟผ.เมื่อเข้ามาทำธุรกิจแอลเอ็นจีก็ถือว่าเป็นการดำเนินการแข่งขันนำเข้าตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งความต้องการก๊าซฯ นำเข้าจำนวนมาก ขณะที่ ปตท.มีการทำธุรกิจที่หลากหลาย ดังนั้น หากจำหน่ายก๊าซฯ โดยตรงต่อ กฟผ. แม้อาจจะน้อยลง ก็ไม่ได้กระทบต่อภาระรวมของธุรกิจ ขณะเดียวกันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศ ปตท.ได้ร่วมกับ ปตท.สผ.ลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจแอลเอ็นจีอย่างครบวงจร ในแหล่งที่จะซื้อเข้ามาใช้ในประเทศ เช่น มาเลเซีย ซึ่งได้ร่วมลงทุนในบริษัท PETRONAS LNG9 สัดส่วนร้อยละ 10 มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาลงทุนรูปแบบเช่นนี้ในโครงการโมซัมบิก และโครงการแคชเมเปิลใน ออสเตรเลีย. – สำนักข่าวไทย