รัฐสภา 17 ส.ค. – สนช.มีมติผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยเสียงเอกฉันท์ 199 เสียง หลังอภิปรายอย่างยาวนาน และพักการประชุม ในที่สุด มีมติ 177 ต่อ 20 เสียง เซ็ตซีโร่ กสม.
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวาระ 2-3 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีทั้งหมด 67 มาตรา มีการแก้ไขเนื้อหา 18 มาตรา ซึ่งการแก้ไขได้นำความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบมาพิจารณาด้วย ซึ่งมีผู้สงวนคำแปรญัตติ 4 มาตรา
สำหรับร่างพ.ร.บ. กสม. นี้ กรรมาธิการฯ ได้ปรับแก้เพิ่มบางคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง กสม. ว่าจะต้องมีความรู้ และประสบการณ์บางประการต่อด้านสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่น้อยกว่า10 ปี เช่น ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอน หรือวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา หรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งเดิมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้เพียง 5 ปี อีกทั้งต้องมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ใช้เวลานานในการอภิปราย มาตรา 60 ที่บัญญัติให้ประธาน และกรรมการ กสม.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีผลใช้บังคับ แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานและกรรมการกสม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ หรือการเซ็ตซีโร่ กสม. แต่ในชั้นกรรมาธิการ ได้ปรับแก้ให้อยู่ครึ่งวาระ คือ 3 ปีนับจากวันที่รับตำแหน่ง
นางจุรี วิจิตรวาทการ กรธ.และกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ยืนยันว่า ต้องเป็นไปตามเจตนารมย์ของ กรธ.ว่า ควรเซ็ตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบันทั้งคณะ และให้อยู่รักษาการจนกว่าจะมี กสม. ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่แทน เนื่องจาก กสม. ชุดปัจจุบัน มีที่มาไม่สอดคล้องกับ หลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน หรือหลักการปารีส ทำให้ กสม.ไทยถูกลดสถานะจากเกรด A เป็น B
ด้านนายกล้าณรงค์ จันทิก สนช. อภิปรายแย้งว่า กสม.ควรอยู่ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ เนื่องจากการแต่งตั้งถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หากเซ็ตซีโร่ จะทำให้ กสม.ถูกละเมิดสิทธิเอง อีกทั้งการพิจารณาว่าจะเซ็ตซีโร่นั้น ใช้หลักเหตุผล ไม่ใช่เรื่องของคุณสมบัติ จึงแตกต่างกับ กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน
นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า ควรให้ประธาน และกรรมการ กสม.อยู่ดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งเนื่องจากเห็นว่าระยะเวลาในการสรรหาของคณะกรรมการ กสม.ชุดใหม่ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของเวลาในการเซ็ตซีโร่ จะต่างกันเพียงร้อยกว่าวัน แต่ไม่เห็นด้วยหากจะให้อยู่จนครบวาระเพราะเป็นเวลานานเกินไป เมื่ออ้างอิงให้สอดคล้องกับหลักการปารีส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ นายสุรชัย ประธานในที่ประชุมจึงสั่งพักการประชุม เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเพื่อให้กรรมาธิการได้หารือกันอีกครั้งก่อนลงมติ เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานกรรมาธิการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ใน มาตรา 60 กรรมาธิการฯ มีความเห็นให้กลับไปใช้ตามร่างเดิมที่ กรธ.เสนอ คือให้เซ็ตซีโร่ ประธาน และกรรมการ กสม.
จากนั้นที่ประชุม สนช.ได้ลงมติวาระ 2 เรียงรายมาตรา โดยมีมติเห็นชอบมาตรา 60 ให้คงตามร่าง ของ กรธ. ด้วยมติ 177 ต่อ 20 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และที่ประชุมได้ปรับแก้ระยะเวลาการสรรหา กสม.ชุดใหม่ให้เสร็จภายใน 320 วัน ซึ่งระหว่างนี้ กสม.ชุดปัจจุบันจะอยู่รักษาการไปก่อน
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 199 เสียง ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย