กรุงเทพฯ 17 ส.ค. – คลังเร่งเครื่องผลักดันผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เสนอยกร่างกฎหมายลดอุปสรรคทุกด้าน รองรับไทยแลนด์ 4.0
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการอบรมหลักสูตร SME-D Scale Up ย้ำว่า เพื่อลดปัญหาอุปสรรคหลายด้านของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตาร์ดอัพ ทั้งเรื่อง กฎระเบียบ เงื่อนไข การศึกษาทดลอง การร่วมทุน กฎหมายทางแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวกับการออกหุ้นให้พนักงาน การระดมทุนผ่านตลาดทุน การส่งเสริมภาษีด้านต่างๆกับผู้ประกอบการ Start Up กระทรวงคลังจึงเตรียมยกร่างกฎหมาย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตาร์ดอัพ เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในทุกด้าน เสนอรัฐมนตรีคลัง และครม.พิจารณา คาดว่าจะสรุปร่างกฎหมายได้ในช่วงเดือนกันยายน และเสนอสภา สนช.พิจารณา หากจำเป็นต้องเสนอใช้มาตรา 44. เพื่อลดอุปสรรคอาจต้องเสนอด้วยเช่นกัน
เช่น ธุรกิจประกันภัยใช้ระบบ Sand Box ทดลองการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัย แต่บุคคลภายนอกทำไม่ได้ เมื่อกฎหมายบังคับใช้ จะเปิดช่องทางให้บุคคลภายนอกที่มีแนวคิด ได้เข้าไปใช้ Sand Box ของประกันภัยเพื่อทดลองออกผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังต้องเร่งผลักดัน ผู้ประกอบการ Start Up ระดมทุนในตลาดทุน ผ่านการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อร่วมทุนจากภาคเอกชน นักลงทุน เพื่อเป็นช่องทางหาทุนให้กับผู้ประกอบการ นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมคนรุ่นใหม่เข้าถึงการใช้นวัตกรรม แนวคิดสร้างสรรค์ เพื่อเดินไปสู่ ผู้ประกอบการ Start Up จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งชมรมผู้ประกอบการ Start Up ในโรงเรียนระดับมัธยมปลาย อาชีวะ กระจายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้สร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ และศึกษาเพิ่มเติมในระดับมหาวิทยาลัย นำไปสู่การประกอบอาชีพได้เอง
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank (ธพว.) กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve นำต่อยอดแนวความคิดสร้างสรรค์สร้างโมเดลธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์ การอบรมผ่านโครงการหลักสูตร SME- D Scale Up เป็นหลักสูตรแรกที่เคยมีโดยให้องค์ความรู้และโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน โดยมีการจัดอบรมจากวิทยากรชั้นแนวหน้าระดับประเทศทุกแขนงกว่า 12 ท่านอาทิ ด้านนวัตกรรมด้านการเงิน (FinTech) ด้านการพัฒนาโซลูชั่นSoftware ด้านการสร้างแบรนด์การตลาดOnline Social Media และดิจิตอลดีไซน์ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ( Lean) ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่ถือเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศในการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 มองว่า ผู้ประกอบการ Start Up ที่เข้าอบรมเข้าข่ายการปล่อยสินเชื่อ 56 ราย หากปล่อยสินเชื่อได้ 3 ล้านบาทต่อราย ด้วยอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนร้อยละ 3 เป็นวงเงินสินเชื่อ 168 ล้านบาท ส่วนกลุ่มที่เหลือ 40 ราย หากนำมาผ่านการอบรมเพิ่มศักยภาพนำมาพิจารณาสินเชื่อเพิ่มเติม.- สำนักข่าวไทย