กรุงเทพฯ 10 ส.ค.-หลังพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา จึงมีการเร่งเตรียมระบบให้นายจ้างสามารถหักเงินเดือนผู้กู้ยืมเพื่อคืนกองทุนได้ ซึ่งคาดว่ากองทุนจะเริ่มให้นายจ้างสามารถหักเงินได้ภายในปลายปีนี้
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. แหล่งเงินทุนต่อยอดโอกาสทางการศึกษาให้เด็กกว่า 5.2 ล้านคน เป็นเงินกว่า 550,000 ล้านบาท แต่โอกาสที่มอบให้อาจไม่ถูกส่งต่อ เพราะมีผู้กู้เบี้ยวหนี้ถึง 2.1 ล้านราย หนี้เสียรวมกว่า 62,000 ล้านบาท เฉพาะปีนี้ฟ้องร้องผู้กู้อีก 140,000 คน
“นัตตี้” คอลัมนิสต์ กู้เงิน 250,000 บาท เรียนต่อมหาวิทยาลัย เนื่องจากค่าเทอมสูง ครอบครัวไม่พร้อม บอกว่าจ่ายเงินทุกครั้งเมื่อครบกำหนด เพราะรู้ดีว่า มีน้องๆ ยังรอกู้เงิน ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ มีทั้งข้อดีเเละข้อเสีย เเนะ กยศ.ก่อนออกเกณฑ์หักเงินควรประเมินผู้กู้เป็นกรณีไป เพราะเเต่ละคนมีภาระที่ต่างกัน ทั้งผู้กู้บางส่วนไม่ทำงาน การติดตามหนี้อาจไม่ครอบคลุม
สถิติเปรียบเทียบ 2 ปีย้อนหลัง พบมีผู้กู้ชำระหนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 แต่ที่ไม่ชำระหนี้และติดตามตัวยากยังมีมาก พ.ร.บ.ใหม่ จึงเป็นกุญเเจไขปัญหา สาระสำคัญให้อำนาจขอข้อมูลส่วนตัวผู้กู้ยืมจากบริษัททั้งภาครัฐ-เอกชน ประกันสังคมและกรมบัญชีกลาง จากนั้นแจ้งนายจ้างให้หักเงินเดือน เพื่อส่งกรมสรรพากรเช่นเดียวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย คาดว่าจะดำเนินการได้ในปลายปีนี้
ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมระบบนำส่งเงินชำระหนี้ เร่งออกกฎกระทรวงรองรับ พ.ร.บ. กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อทำความเข้าใจกับองค์กรนายจ้าง
ส่วนการเลือกผู้กู้ที่มีคุณภาพ จากเดิมที่สถานศึกษาจะคัดกรอง กยศ.มีเเนวคิดคัดเอง โดยใช้เเบบประมวลผลรวม เพื่อเลือกผู้กู้ที่มีคุณภาพมากที่สุด ทั้งปรับระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ สะดวกตรวจสอบการกู้ยืมและการติดตามหนี้อย่างเป็นระบบ ส่วนผู้กู้ที่โดนฟ้องไม่ต้องกังวล สามารถผ่อนจ่ายได้
ปีนี้ กยศ.ปล่อยกู้ให้ผู้กู้เกือบ 800,000 คน เป็นเงิน 34,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีเเรกที่ กยศ.นำเงินชำระหนี้มาปล่อยกู้ได้หมด โดยไม่ต้องขออนุมัติเงินจากสำนักงบประมาณเพิ่มเติม เป็นสัญญาณที่ดี ให้เด็กรุ่นหลังได้กู้เงินต่อ และสะท้อนถึงความรับผิดชอบของคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ.-สำนักข่าวไทย