กรมสุขภาพจิต 8 ส.ค.-กรมสุขภาพจิต เผยผลฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยในพื้นที่10 ตำบลใน 8 อำเภอของ จ.สกลนครหลังน้ำท่วมมากว่า 1 สัปดาห์ ทีมจิตแพทย์เอ็มแคทตรวจคัดกรอง พบผู้มีภาวะเครียดวิตกกังวลอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง 36 คน เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า 23 คน เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 2 คน จัดระบบดูแลใกล้ชิด
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุเซินกาที่จ.สกลนครว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ในบางพื้นที่ ระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตรถึง 1.50 เมตร กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมจิตแพทย์เอ็มแคทจากรพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ร่วมกับทีมเอ็มแค็ทจากโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 8 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เร่งดำเนินการฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2560 ในพื้นที่ 10 ตำบล ของ 8 อำเภอที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุด ได้แก่ อ.เมืองที่ต.งิ้วด่อน ,อ.อากาศอำนวยที่ต.สามัคคีและต.อากาศ ,อ.วานรนิวาสที่ต.หนองสนม ,อ.กุสุมาลย์ที่ต.อุ่มจาน , อ.โพนนาแก้วที่ต.เชียงสือ, อ.พังโคนที่ต.ต้นผึ้ง , อ.พรรณานิคมที่ต.สว่างและต.เชิงชุม และอ.สว่างแดนดินที่ต.สว่างแดนดิน ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบทางจิตใจผู้ประสบภัยทุกคนให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด ซึ่งในวันนี้ทีมจะปฎิบัติงานในตำบลอื่นๆ จนกว่าครอบคลุมทั้งหมด
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผลการตรวจประเมินสุขภาพจิตผู้ประสบภัยใน 10 ตำบล รวม 500 คน หลังจากเกิดปัญหาน้ำท่วมกว่า 1 สัปดาห์พบส่วนใหญ่ยังมีความเครียดบ้างแต่อยู่ในระดับเล็กน้อยซึ่งจัดอยู่ในภาวะปกติ โดยพบผู้มีภาวะเครียดและวิตกกังวลอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง 36 คนหรือร้อยละ 7 อายุระหว่าง 45-55 ปี มีอาการคือนอนไม่หลับ มีสมาธิน้อย ว้าวุ่นกระวนกระวายใจ รู้สึกเบื่อเซ็งชีวิตเกือบทุกวัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และเป็นผู้ป่วยจิตเวชเดิม รวมทั้งมีปัญหาหนี้สิ้น ในจำนวนนี้เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า 23 คน เนื่องจากมีความเครียดสะสมในระดับรุนแรงมาหลายวัน ทำให้จิตใจห่อเหี่ยว ไม่มีเรี่ยวแรงต่อสู้ ท้อแท้ สิ้นหวัง หนีปัญหา และมีผู้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 2 คน ได้ขึ้นทะเบียนและส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งได้จัดระบบการติดตามผลการรักษา และเฝ้าระวังใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์, 1 เดือน, 3เดือน,และ 6 เดือนหรือจนกว่าอาการจะกลับสู่สภาวะปกติ
ทั้งนี้ ทีมเอ็มแคทซึ่งเป็นทีมงานสหวิชาชีพชุดใหญ่ มีทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ และบุคลากรสาธารณสุขที่ผ่านการอบรมด้านความเชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพจิต ได้เตรียมเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่มีความเครียดไม่มาก โดยทำกิจกรรมกลุ่ม “ อึด ฮึด สู้ ”เน้นให้ระบายความรู้สึกออกมาให้ได้มากที่สุด ให้ความรู้ เสริมสร้างพลังใจ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สอนวิธีนวดคลายเครียด เพื่อให้สามารถรับมือและจัดการปัญหาหลังน้ำท่วมได้อย่างถูกต้อง
ด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า ปฏิกิริยาของความเครียดทางจิตใจ จะส่งผลให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการหลายอย่างแตกต่างกันไป ตั้งแต่ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดบ่า ซึ่งมีวิธีแก้ไขขั้นต้นง่ายๆ โดยใช้ภูมิปัญญาใกล้ตัว คือ การนวดไทย ประชาชนสามารถทำด้วยตนเองได้เลยทุกครั้งที่เกิดอาการ โดยการใช้แรงจากปลายนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้หรือนิ้วกลาง ทำการกดนาน 10 วินาที กดซ้ำจุดละ 3-5 ครั้ง โดยจุดที่นวดแล้วจะทำให้สมองเบา ร่างกายปลอดโปร่งสุขสบายขึ้น มี 7 จุด คือ 1.จุดกึ่งกลางระหว่างคิ้ว 2. จุดใต้หัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง 3.จุดขอบกระดูกท้ายทอยจะมี 3 จุดคือ จุดกลาง และจุดสองจุดด้านข้าง 4.บริเวณต้นคอ ให้ประสานมือบริเวณท้ายทอย ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดตามแนวสองข้างของกระดูกต้นคอ โดยกดไล่จากบริเวณตีนผมลงมาที่บริเวณบ่า 5.บริเวณบ่า ใช้ปลายนิ้วมือบีบไหล่ไล่จากบ่าเข้าหาต้นคอ 6. บริเวณบ่าด้านหน้า ใช้นิ้วหัวแม่มือกดจุดใต้กระดูกไหปลาร้า จุดต้นแขนและจุดเหนือรักแร้ของบ่าทั้ง 2 ข้าง และ7.บริเวณบ่าด้านหลัง ใช้นิ้วที่ถนัดอ้อมไปกดจุดบนและจุดกลางของกระดุกสะบักและจุดรักแร้ที่ด้านหลังของบ่าทั้ง 2 ข้าง หากทำเช่นนี้เป็นประจำทุกวัน จะช่วยขจัดความเครียดที่ได้ผลดีมาก โดยไม่ต้องพึ่งยาช่วย .-สำนักข่าวไทย