กรุงเทพฯ 6 ส.ค. – กรมชลประทานจัดจราจรน้ำแม่น้ำมูล-ชี เปิดบานระบายเขื่อนลำน้ำชีทุกแห่ง ใช้เครื่องผลักดันน้ำเร่งการไหล เตรียมลดบานระบายน้ำเขื่อนราษีไศล 7 ส.ค. ชะลอน้ำในแม่น้ำมูลไม่ให้ไหลไปรวมกับแม่น้ำชีที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น “เซินกา” ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนล่างส่งผลให้มีปริมาณน้ำในแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และลำน้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้น จนล้นตลิ่งและเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนหลายจังหวัด ปัจจุบันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ต้นน้ำเริ่มลดลง จังหวัดที่อยู่กลางน้ำยังต้องประสบปัญหา และจังหวัดปลายน้ำเริ่มเกิดอุทกภัยขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่เป็นจุดรวมของน้ำจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง
นายทองเปลว กล่าวว่า กรมชลประทานเตรียมแผนการจัดจราจรน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดอุบลราชธานี โดยจะเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีที่มีปริมาณน้ำมากไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงโดยเร็ว โดยการเปิดบานระบายน้ำของเขื่อนระบายน้ำในลำน้ำชีทุกแห่งและใช้เครื่องผลักดันน้ำช่วยเร่งการไหลและจะทำการชะลอน้ำจากแม่น้ำมูล บริเวณเขื่อนราษีไศล จังหวังศรีสะเกษ เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำจากทั้ง 2 แม่น้ำไหลไปรวมเวลาเดียวกันที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะช่วยบรรเทาอุทกภัยไม่ให้เกิดรุนแรงขึ้น โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ซึ่งเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเขื่อนราษีไศลจะลดบานเขื่อนราษีไศลลง (ปัจจุบันแขวนบานพ้นน้ำ) เพื่อชะลอน้ำในลำน้ำมูลไว้เหนือเขื่อนวันที่ 7 สิงหาคม เวลา 09.00 น. และจะทำการควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำมูลด้านเหนือเขื่อนไม่ให้เกินระดับ +119.00 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ยังไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านเหนือเขื่อนราษีไศล ทั้งนี้ หากปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มากจนไม่สามารถควบคุมที่ระดับ +119.00 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางได้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่างจะทำการยกบานขึ้นทันทีเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุบลราชธานี อำเภอต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยังคงเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ พร้อมปฏิบัติงาน ได้แก่ รถตักบูมยาว 4 คัน เครื่องผลักดันน้ำ 22 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำ 30 เครื่อง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย