นนทบุรี 4 ส.ค. – พาณิชย์ออกมาตรการช่วยธุรกิจ 10 จังหวัด และเขตประสบพิบัติภัยเพิ่มเติมในพื้นที่น้ำท่วมภาคอีสาน-กลาง ยืดเวลาทำธุรกรรมทางนิติบุคคล
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์เร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่กำลังได้รับความเดือดร้อนขณะนี้ รวมถึงการเยียวยาภาคธุรกิจซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกรมฯ ได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยใน 10 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด คือ สกลนคร ร้อยเอ็ด นครพนม นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และภาคกลาง 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา รวมถึงเขตประสบพิบัติภัยน้ำท่วมอื่น ๆ เพิ่มเติม
สำหรับมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.ผ่อนผันการแจ้งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดให้แจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือควรทราบถึงการสูญหายหรือเสียหายให้สามารถยื่นล่าช้าและสามารถใช้เป็นหลักฐานกรณีถูกเรียกตรวจบัญชีได้ ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถแจ้งบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Permit) ได้ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th 2.ผ่อนผันการยื่นงบการเงินประจำปี สำหรับธุรกิจที่มีหน้าที่ต้องยื่นงบฯ ในช่วงที่เกิดอุทกภัย โดยสามารถยื่นล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดได้ 3.ผ่อนผันการยื่นจดทะเบียนของนิติบุคคลที่ต้องยื่นจดทะเบียนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้สามารถยื่นล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดได้
4.จัดตั้งศูนย์บริการรับจดทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนิติบุคคลที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ใน 10 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย และจังหวัดที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเพิ่มเติม ดังนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ สามารถจดทะเบียนจัดตั้งฯ ได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หรือจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ทาง www.dbd.go.th และการใช้บริการด้านการจดทะเบียนอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงกรรมการ การเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้ง ฯลฯ สามารถใช้บริการได้ ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง ชั้น 4 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 การจดทะเบียนธุรกิจ 10 จังหวัดที่ประสบภัยดังกล่าว พบว่า มีนิติบุคคลคง 32,363 ราย แบ่งเป็นสกลนคร 2,009 ราย ร้อยเอ็ด 2,307 ราย นครพนม 1,462 ราย นครราชสีมา 10,716 ราย กาฬสินธุ์ 1,428 ราย ยโสธร 1,142 ราย มุกดาหาร 1,042 ราย อำนาจเจริญ 619 ราย อุบลราชธานี 3,892 ราย และพระนครศรีอยุธยา 7,746 ราย นิติบุคคลส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยประกอบธุรกิจประเภทการก่อสร้างอาคารทั่วไปมากที่สุด หากรวมทุนจดทะเบียนเฉพาะธุรกิจประเภทนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 21,887.69 ล้านบาท จากมูลค่าโดยรวมทุนจดทะเบียนของนิติบุคคลทั้ง 10 จังหวัด จำนวน 352,559.87 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย