27 ต.ค.- พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้านภาษาและวรรณกรรม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับเรื่องภาษา คำศัพท์ ที่มาของศัพท์ และรากศัพท์ อีกทั้งยังสนพระทัยและค้นคว้าเกี่ยวกับศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะทรงเข้าพระทัยว่าหากเข้าใจศัพท์และที่มาของศัพท์แล้วจะช่วยให้เข้าใจความหมายของธรรมะได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ผลงานด้านวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีทั้งพระราชนิพนธ์ทรงแปลและพระราชนิพนธ์ทรงแต่งหลายเรื่องด้วยกัน ได้แก่ วรรณกรรม เรื่อง ติโต (Tito) ที่ทรงแปลตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งต่อมาได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์ในปี 2537
ต่อมาในปี 2520 ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชผาติการาม เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมพุทธศาสนา เรื่อง พระมหาชนก เป็นพระราชนิพนธ์ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถด้านภาษา และพระวิริยะอุตสาหะในการถ่ายทอดจากภาษาบาลีในพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษและไทยให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย และมีคติสอนใจ เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2531 พระราชทานออกพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในพุทธศักราช 2539
จากนั้น ในวันที่ 20 มิถุนายน 2520 ทรงเริ่มแปลวรรณกรรม เรื่อง นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2523 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เมื่อปี 2536
ในเดือนพฤศจิกายน 2545 พระราชนิพนธ์ เรื่อง ทองแดง “The Story of Tongdaeng” ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงกล่าวถึงความฉลาดแสนรู้ของคุณทองแดงที่คนไทยยกให้เป็นสุนัขประจำรัชกาล โดยมีพระราชปรารภในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ตอนหนึ่ง ความว่า “เรื่องสุนัขสามตัวนี้ คือ แดง มะลิ และทองแดง แสดงว่า สุนัขจรจัดมีคุณสมบัติที่น่าปรารถนาสำหรับเป็นสุนัขเลี้ยงในบ้าน…ในประเทศไทยมีหลายแสนตัวที่จะเลือกได้ ความจริงมีล้นเหลือ แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่ทางราชการจะช่วย ก็จะมีผู้ที่ยินดีอย่างยิ่งในการเปิดบ้านต้อนรับสุนัขเหล่านี้ จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาสุนัขเร่ร่อนซึ่งเป็นอันตราย นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาสัตว์เลี้ยงหรูหราราคาแพงซึ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งหันมาพัฒนาสายพันธุ์สุนัขไทยที่ฉลาดน่ารักและซื่อสัตย์ที่มีอยู่มากมาย”