กรุงเทพฯ 2 ส.ค. – ธนาคารทีเอ็มบี-ไทยพาณิชย์ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ประสบอุทกภัย พักชำระเงินต้น ขยายเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย วงเงินหมุนเวียนชั่วคราวเสริมสภาพคล่อง
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ธนาคารจัดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ประกอบด้วย การพักชำระเงินต้นและขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปนานสูงสุด 12 เดือน ขยายเทอมตั๋วสัญญาใช้เงินและวงเงินการค้าต่างประเทศสูงสุด 6 เดือน พร้อมทั้งเสนอดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับลูกค้าวงเงินหมุนเวียน เพื่อบรรเทาภาระของลูกค้าในช่วงที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จนกระทั่งสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ
สำหรับลูกค้าบุคคล ธนาคารมีมาตรการผ่อนผันให้ลูกค้าสินเชื่อบ้าน,สินเชื่อสวัสดิการประเภทไม่มีหลักประกัน, สินเชื่อแคชทูโก และ สินเชื่อเรดดี้แคช โดยลูกค้าสามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ที่จะขอพักชำระหนี้ได้สูงสุด 3 เดือน และขยายระยะเวลาผ่อนชำระได้แล้วแต่ประเภทของสินเชื่อ ในส่วนของลูกค้าสินเชื่อบ้านที่ต้องการซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหาย สามารถยื่นขออนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน ในวงเงินสูงสุดร้อยละ 20 ของมูลค่าหลักประกัน
นอกจากนี้ ธนาคารยังเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผ่านบัญชีมูลนิธิทีเอ็มบี เลขที่ 001-9-35960-3 ชื่อบัญชี “มูลนิธิทีเอ็มบี เพื่อโครงการสาธารณกุศล” เพื่อส่งมอบให้สภากาชาดไทยนำไปใช้ในการบรรเทาทุกข์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ โดยธนาคารจะร่วมบริจาคสมทบอีก 1 เท่า ของยอดเงินบริจาคในบัญชี ณ วันที่ 15 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ ผู้บริจาคสามารถขอใบเสร็จจากมูลนิธิทีเอ็มบีเพื่อใช้ในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี โดยส่งสำเนาสลิปการโอน พร้อมชื่อที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ไปที่อีเมล TMBFoundation@tmbbank.com หรือ แฟกซ์ไปที่ 02 242 3114 และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ tmbbank.com
ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารออกมาตรการพิเศษเร่งด่วน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลูกค้าบุคคล ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต พิจารณามอบความช่วยเหลือ ได้แก่ พักชำระหนี้เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทดังกล่าวข้างต้น ลดดอกเบี้ยร้อยละ 50-100 แล้วแต่ประเภทของสินเชื่อ ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสำหรับลูกค้าสินเชื่อบุคคล 2 เดือน ลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ 3 เดือน และสำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสูงสุดไม่เกิน 5 ปี
ลูกค้าธุรกิจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธนาคารมอบความช่วยเหลือให้ทั้งผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรง คือ สถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยและทรัพย์สินของกิจการได้รับความเสียหาย และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม คือ สถานประกอบการตั้งอยู่นอกพื้นที่ แต่มีคู่ค้าอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยส่งผลให้ธุรกิจของลูกค้าไม่สามารถดำเนินการตามปกติได้ ธนาคารจะให้ความช่วยเหลือผ่าน 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 6 เดือน 2.ขยายเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 24 เดือน 3.ลดดอกเบี้ยจากอัตราเดิม 4.วงเงินหมุนเวียนชั่วคราวสำหรับเสริมสภาพคล่องในการทำธุรกิจสูงสุดร้อยละ 20 ของวงเงินหมุนเวียนเดิมหรือสูงสุด 10 ล้านบาท และ 5.วงเงินกู้สำหรับปรับปรุง ซ่อมแซมหรือซื้อทดแทนทรัพย์สินของกิจการที่เสียหายระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 ธันวาคม 2560 ส่วนลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารพร้อมให้ความช่วยเหลือเรื่องต่าง ๆ เต็มที่ ซึ่งพิจารณาตามผลกระทบที่เกิดขึ้นของลูกค้าแต่ละราย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าอย่างทันท่วงที โดยลูกค้าสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าของธนาคารฯ
สำหรับความช่วยเหลือเพื่อร่วมบรรเทาทุกข์ให้กับผู้เดือดร้อน เพื่อเป็นการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในเบื้องต้นธนาคารฯ ได้จัดส่งน้ำดื่ม 12,000 ขวด และอาหารพร้อมรับประทานไปยังจังหวัดสกลนคร ผ่านสำนักงานเขตของธนาคารฯ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งได้จัดถุงยังชีพ ภายในประกอบด้วยเครื่องอุปโภค บริโภค ของใช้จำเป็น และยารักษาโรค จำนวน 1,000 ถุง ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการ “ช่วยผู้ประสบภัยกับไทยพาณิชย์” เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดสกลนครและจังหวัดอื่นๆ ทางภาคอีสาน
นอกจากนี้ ธนาคารได้เชิญชวนคนไทยร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือ ผ่านทางบัญชีเดินสะพัด ชื่อบัญชี “มูลนิธิสยามกัมมาจล-ไทยพาณิชย์ เพื่อผู้ประสบภัย” เลขที่บัญชี 111-3-90911-5 สาขารัชโยธิน โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต สามารถบริจาคผ่านเครือข่ายสาขาและเครื่อง ATM ของธนาคารทั่วประเทศ รวมถึงผ่านบริการ SCB Easy Net โดยจะส่งมอบเงินบริจาคของประชาชน และเงินบริจาคสมทบเพิ่มจากธนาคารอีก 1,000,000 บาทให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์.-สำนักข่าวไทย