พม.2 ส.ค.-คณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี รุดติดตามปัญหาด้านเด็กสตรี 3 ประเด็น ‘ความรุนแรง-ค้าประเวณี-ความเท่าเทียม’ จาก พม.หลังพบยังคงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงต่อเนื่อง
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมคณะผู้บริหาร พม.ให้การต้อนรับนางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี พร้อมสมาชิก ซึ่งสังกัดในคณะกรรมาธิการการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ที่เข้าเยี่ยมและร่วมหารือในประเด็นการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสตรี เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ณ ห้องประชุมชั้น 8 พม.
ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล อนุกกรรมาธิการกิจการสตรี เสนอในที่ประชุมถึงประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวข้องกับสตรีที่กระทรวง พม.และคณะกรรมาธิการต้องทำงานร่วมกันใน 3 ประเด็น คือปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเด็กและสตรี ที่ต้องป้องกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังให้มีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังพบเด็กและผู้หญิงเป็นเหยื่อความรุนแรงต่อเนื่อง ปี 2559 พบเด็กและผู้หญิงถูกทำร้าย 68 คนต่อวัน ดังนั้นการคุ้มครองโดยกฎหมายจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงกลไกของชุมชนและสหวิชาชีพ ที่ทำหน้าที่ดูแลเหยื่อป้องกันไม่เกิดความรุนแรงงานที่ต้องร่วมทำงานอย่างจริงจัง เน้นฟื้นฟูผู้ถูกกระทำและบำบัดผู้กระทำ รวมถึงเรื่องการสร้างความรับรู้ในสังคม ทำอย่างไรให้ทุกคนร่วมต่อต้านความรุนแรง ไม่กระทำ ไม่ยอมรับและไม่นิ่งเฉยอีดต่อไป ส่วนประเด็นที่สอง การค้าประเวณีและการค้ามนุษย์ที่ขณะนี้พบมากขึ้นเรื่องๆ แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ยังมีความเลื่อมล้ำอยู่มากโดยเฉพาะคัดแยกเหยื่อว่าอันไหนเข้าข่ายค้าประเวณี หรือค้ามนุษย์ ขณะที่ตัวกฎหมายค้าประเวณีที่มี ก็ใช้กันมานาน ก็เน้นเอาผิดคนขาย มากกว่าคนซื้อ มองว่าควรจะมีการแก้ไขเพื่อให้สามารถบังคับใช้ และคุ้มครองเหยื่อได้จริง และประเด็นสุดท้าย ความเท่าเทียม แม้ที่ผ่านมาเราจะมีการพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2558 และได้มีการประชาสัมพันธ์อยู่บ้าง แต่คนในสังคมยังไม่ทราบตัวกฎหมายนี้มากนัก ซึ่งนอกจากการเผยแพร่ว่าเรามีการคุ้มครองความเท่าเทียมระหว่างเพศให้ประชาชนแล้ว ควรเน้นประชาสัมพันธ์ในส่วนขององค์กร ทั้งเอกชนและรัฐด้วย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เกิดการเลือกปฏิบัติมากที่สุด
ด้าน รมว.พัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า จากเรื่องเร่งด่วนที่ได้เสนอมาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง พม.ได้ดำเนินการมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันความรุนแรงงานในส่วนของชุมชน ปัจจุบันเรามีศูนย์ดูแลเรื่องนี้ในชุมชนทั้งประเทศประมาณกว่า 6000 ศูนย์ ซึ่งกว่าร้อยละ 50 มีศักยภาพทำงานเชิงรุกได้จริง และได้จัดโครงการเฝ้าระวังใน 10 จ.ที่มีความรุนเเรงสูงที่สุด แต่ยอมรับว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่สามวิชาชีพไม่เพียงพอเนื่องจากมีการเปลี่ยนตำแหน่งตลอดเวลาต้องพึ่งพาเอกชนด้วย และดำเนินการจัดร่างแผนหลักสูตรเปลี่ยนแปลงผู้กระทำให้กลับมาเป็นคนดีในสังคมแล้ว นอกจากนี้ยังได้จัดจ้างที่ปรึกษากฎหมายมาช่วยเร่งแก้กฎหมายค้าประเวณีฉบับนี้ให้มีความครอบคลุมเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุดโดยคาดว่าปี 61 จะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะที่ความเสมอภาคในเรื่องของการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ มีแผนจะเน้นทางโซเชียลมีเดีย เจาะทุกกลุ่มวัย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาของ พม.ที่ได้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสตรีตั้งแต่ในเชิงป้องกัน จนถึงเสริมสร้าง เริ่มจากประเด็นความรุนแรง ได้รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา สร้างเครือข่ายในพื้นที่ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหบือสังคม 1300 รับเเจ้งเหตุ เพื่อส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว้ข้าไปช่วยทันที ขณะที่ด้านค้ามนุษย์ ได้แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ส่วนการป้องกันการค้าประเวณี ได้ตั้งร้านทอฟัน บาย พม. เพื่อจำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดยสตรีเหยื่อค้ามนุษย์และเหยื่อความรุนแรงที่อยู่ในความดูแล ให้พวกเขามีงานทำ เพิ่มรายได้ นอกจากนี้ยังได้ผลักดันพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ และให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือหญิงไทยที่ประสบปัญหาในต่างประเทศและก่อนเดินทางด้วย .-สำนักข่าวไทย