ทำเนียบฯ 1 ส.ค. – ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วม เงินบริจาคหักลดหย่อนภาษี แบงก์รัฐระดมช่วยเหลือชาวบ้าน ผู้ประกอบการ เพื่อเติมทุนหมุนเวียน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคทั้งเงินและทรัพย์สิน เพื่อสร้างแรงจูงใจจากบุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วน และนิติบุคคลทั่วไป เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยสามารถนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่ม 1.5 เท่าของเงินบริจาค กำหนดให้บุคคลธรรมดานำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ และนิติบุคคลไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ บริจาคช่วงวันที่ 5 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม 2560 บริจาคผ่านหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรการกุศล บริษัทเอกชนผู้ลงทะเบียนกับกรมสรรพากร
นอกจากนี้ ยังอนุมัติการนำค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ห้างร้าน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ นำมาหักลดหย่อนภาษี รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการซ่อมแซมรถยนต์และรถจักรยานยนต์มาหักลดหย่อนภาษีได้ตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม 2560 ในเขตพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยตามที่ส่วนราชการประกาศให้เป็นเขตได้รับผลกระทบ
รวมทั้ง ครม.ยังอนุมัติมาตรการช่วยเหลือผ่านสินเชื่ออุทกภัย จากเคยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ เหลือ 3,500 ล้านบาท จึงนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประกาศเป็นพื้นที่อุทกภัย เพื่อใช้ในการฟื้นฟูกิจการผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1-3 ปีแรก จากนั้นปีที่ 4-7 คิดดอกเบี้ยตามเอสเอ็มอีแบงก์กำหนด โดยวงเงินสินเชื่อดังกล่าวระยะเวลาขอได้ภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 หรือจนกว่าวงเงินดังกล่าวจะหมด สำหรับการเช่าที่ราชพัสดุในเขตประสบปัญหาจะได้รับการยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี
ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสี ยหายและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้สามารถขอประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี นาน 4 เดือนแรก ไม่ต้องชำระเงินงวด กรณีได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2560
จัดมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ 3 ทางเลือก อาทิ พักชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 ปี พร้อมให้กู้บรรเทาความเดือดร้อน รายละไม่เกิน 50,000 บาท ชำระคืนภายใน 5 ปี ปลอดการชำระ 3 เดือน ปีแรกไม่คิดดอกเบี้ยสินเชื่อเอสเอ็มอี ให้กู้สูงสุดรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ปลอดชำระเงินต้นปีแรก และลูกค้าสินเชื่อเคหะและประชาชนทั่วไปกู้ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย วงเงินสูงสุด 500,000 บาท ผ่อนชำระ 30 ปี ดอกเบี้ยปีแรก ร้อยละ 0 ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งรัดการจ่ายเงินประกันภัยพืชผล 1,260 บาทต่อไร่ และพักหนี้ให้เป็นเวลา 12 เดือน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้เป็นเวลา 6 เดือน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ขยายเวลาชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือน และให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ธนาคารกรุงไทย พักหนี้ผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน. – สำนักข่าวไทย