กรุงเทพฯ 30 ก.ค.- โพล มก.ชี้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นนโยบายและประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ไพฑูรย์ เจตธำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญการตลาดภูมิภาคเอเชีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ความเชื่อมั่นของเกษตรกรต่อนโยบายและประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ซึ่งสำรวจข้อมูลจากเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 1,536 คน ระหว่างวันที่ 27-28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็น ความเชื่อมั่นต่อนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งประกอบด้วย แผนงานการเชื่อมโยงงานตามนโยบายของ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเกษตรกรมีความเชื่อมั่นต่อแผนงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะนโยบาย 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน สูงที่สุด ถึงร้อยละ 94.33 (เกรด A+) รองลงมาคือ แผนงานระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (แปลงใหญ่) ร้อยละ 84.76 (เกรด A) และการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ร้อยละ 83.01 (เกรด A) นอกจากนี้ใน การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ผลการสำรวจพบว่า ภาพรวม เกษตรกรมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 70.69 (เกรด B ) ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 15.03 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 14.28 ส่วนที่เกษตรกรเชื่อมั่นในนโยบายน้อยที่สุดคือ ยกระดับสหกรณ์ให้เข้มแข็ง ร้อยละ 53.13 ไม่เชื่อมั่นร้อยละ 26.95 ไม่แน่ใจร้อยละ19.92
ประเด็น ความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการทำงานตามนโยบายให้สำเร็จเป็นรูปธรรม พบว่าโดยภาพรวม เกษตรกรมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 74.71 (เกรด B ) ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 12.08 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.21 ทั้งนี้ พบว่าเกษตรกรมีความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการทำงานของรัฐมนตรี สูงถึงร้อยละ 84.18 ขณะที่มีความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการประจำ เพียงร้อยละ 65.23 เท่านั้น
และประเด็น ความเชื่อมั่นว่าการยืมตัวปลัดกระทรวง นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงฯ เป็นรูปธรรมมากขึ้น พบว่าเกษตรกรมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 62.24 ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 22.59 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 15.17
ดร.ไพฑูรย์ ระบุว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่าเกษตรกรมีความเชื่อมั่นต่อนโยบายหลักของกระทรวงฯ เพียงแต่บางนโยบายที่กระทรวงฯ พยายามขับเคลื่อน เป็นปัญหาเรื้อรังเดิมยากแก่การแก้ไขในระยะเวลาสั้นๆ อาทิ การยกระดับสหกรณ์ให้เข้มแข็ง หรือการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร และจำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัว อาทิ Smart Officer และ Smart Farmer จึงทำให้ภาพรวมของความเชื่อมั่นต่อนโยบายยังไม่สูงเท่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ดี แม้เกษตรกรจะให้ความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการทำงานของรัฐมนตรี มากกว่าข้าราชการประจำค่อนข้างมาก แต่กลับไม่เด่นชัดนักว่าลำพังการยืมตัวปลัดกระทรวงฯ ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงฯ เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่า แม้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีผลงานในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไม่มาก แต่ด้วยเหตุที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่าพัวพันกับการทุจริต ตลอดจนยังไม่มีความชัดเจน ว่าผู้ที่จะเข้ามารับหน้าที่ต่อจากนี้ จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระยะเวลาเท่าที่เหลืออยู่ตามโรดแมปของรัฐบาลได้-สำนักข่าวไทย