ทำเนียบฯ 27 ก.ค. – บอร์ดบีโอไอพอใจผลการส่งเสริมลงทุนครึ่งปีแรก พบต่างชาติเชื่อมั่นขยายการลงทุนเพิ่มจากยอดออกบัตรส่งเสริมลงทุนเกิดขึ้นจริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เพื่อดันเงินลงทุนจริงออกสู่ระบบ ขณะที่ยอดขอรับส่งเสริมในพื้นที่อีอีซีเกินครึ่งทาง มั่นใจยอดขอรับส่งเสริมทั้งปีทำได้ตามเป้าหมาย 6 แสนล้านบาท
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วงครึ่งปีแรก 2560 พบว่า ขอรับส่งเสริมการลงทุน 150 โครงการ เงินลงทุนรวม 87,430 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และคาดว่าตลอดทั้งปีจะมีการขอรั บส่งเสริมในพื้นที่อีอีซีตามเป้าหมาย 150,000 ล้านบาท
สำหรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรก มูลค่าเงินลงทุนรวม 341,310 ล้านบาท บีโอไอออกบัตรอนุมัติการลงทุนที่เกิดขึ้นจริงวงเงิน 322,100 คน นับว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปีก่อน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทย เพราะยอดที่รับส่งเสริมลงทุนค้างไว้แต่เริ่มลงทุนสูงมากขณะนี้ จึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยหลายด้าน อาทิ การจ้างงานคนไทยกว่า 33,000 ตำแหน่ง เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 288,000 ล้านบาทต่อปี เกิดรายได้จากการส่งออกปีละกว่า 200,000 ล้านบาท เป็นต้น มั่นใจส่งเสริมการลงทุนทำได้ตามเป้าหมาย 600,000 ล้านบาทในปีนี้
นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ครึ่งปีแรก พบว่า การยื่นขอรับส่งเสริม 372 โครงการ มูลค่า 141,065 ล้านบาท นำโดยญี่ปุ่นมากที่สุด 117 โครงการ เงินลงทุน 65,435 ล้านบาท อันดับ 2 สิงคโปร์ 45 โครงการ เงินลงทุนรวม 15,260 ล้านบาท อันดับ 3 จีน 35 โครงการ เงินลงทุนรวม 7,134 ล้านบาท ที่ประชุมจึงพอใจกับภาวะการลงทุนครึ่งปีแรก โดยเฉพาะสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 60 เป็นโครงการลงทุนใหม่และมีการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนิวเอสเคิร์ฟ และเอสเคิร์ฟเดิม ขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และเสริมสร้างความสามารถการแข่งขัน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้บีโอไอ ศึกษาแนวทางส่งเสริมการลงทุนด้านเกษตรแปรรูป เพื่อให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นรองรับการผลิตสินค้าเกษตรและผลไม้ที่ออกมาจำนวนมาก เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านการเกษตร รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อการกระจายไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง นอกจากการท่องเที่ยวหัวเมืองใหญ่ เพื่อกระจายรายได้และสร้างเศรษฐกิจชุมชน และหากภาคเอกชนรายใหญ่รวมตัวการเสนอโครงการส่งเสริมการงทุนที่ดี สามารถยื่นเสนอต่อรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากการศึกษาจากภาครัฐเพิ่ม.-สำนักข่าวไทย