สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 26 ก.ค.- ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติการพิจารณาเรื่องซื้อเรือดำน้ำจากจีน ไม่มีได้ขัดรัฐธรรมนูญ ย้ำ แผนการจัดซื้อเป็นไปตาม พ.ร.บ.งบประมาณ ขณะเดียวกัน การจัดซื้อไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาที่ต้องเสนอสภาฯ
นายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T ระหว่างกองทัพเรือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ว่า ไม่พบเหตุผิดปกติ หรือ มีการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงมีมติให้ยุติเรื่องดังกล่าว
นายรักษ์เกชา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งมีการก่อหนี้ผูกพัน วงเงิน 13,500 ล้านบาท ได้มีการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ใช้บังคับแล้ว โดยเสนอ ครม.พิจารณาตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2559 จึงเป็นการดำเนินการตามมาตรา 23 วรรค 3 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงถือว่าชอบด้วยวิธีการงบประมาณ
“ส่วนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2560 เป็นการรับทราบและเห็นชอบ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ก่อนดำเนินการเท่านั้น อีกทั้ง การจัดซื้อดังกล่าวยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 โดยมีการปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์มาโดยลำดับ จึงมิได้เป็นการสร้างภาระแก่ประเทศชาติ หรือประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือเกินสมควรแต่อย่างใด” นายรักษ์เกชา กล่าว
นายรักษ์เกชา กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำถือเป็นหนังสือสัญญา ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ไม่มีลักษณะเป็นสัญญา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 178 เนื่องจากเป็นข้อตกลงจัดสร้างเรือดำน้ำ เป็นการทำสัญญาซื้อขายเชิงพาณิชย์ ในทำนองเดียวกับการทำสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน จึงไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน อีกทั้ง กรณีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาว่า จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ .- สำนักข่าวไทย