กทม. 24 ก.ค. – ขั้นตอนหลังจากนายจ้างยื่นเอกสารที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความเป็นลูกจ้างนายจ้าง โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมเป็นต้นไป ในขั้นตอนนี้มีข้อกังวลจากนักวิชาการด้านแรงงาน
เครือข่ายแรงงานตั้งข้อกังวลถึงเกณฑ์พิจารณาความสัมพันธ์ในขั้นตอนพิสูจน์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างว่าไม่เหมาะสม เพราะกำหนดไว้ต้องเป็นลูกจ้างนายจ้างกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน และมีเอกสารเงินเดือน เนื่องจากที่ผ่านมามีการกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายจ้างจะมีแรงงานต่างด้าวทำงานถึง 6 เดือน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจส่วนตัวพิจารณา ซึ่งอาจเกิดปัญหาการจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือปลอมแปลงเอกสารได้
สอดคล้องกับตัวแทนนายจ้างย้ำว่า หากไม่ปลคล็อกเกณฑ์ แรงงานใหม่ก็ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เมื่อรัฐมองแรงงานมีประโยชน์ก็ควรอำนวยความสะดวกโดยไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งกฎหมายลูกกว่า 30 ฉบับ ที่จะออกมาควบคุม ก็ต้องดูบริบทของไทย มิใช่อ้างอิงนานาชาติอย่างเดียว โดยเฉพาะเรื่องอาชีพสงวน 39 อาชีพ ควรยืดหยุ่น
ขณะที่กระทรวงแรงงานแจงไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่แรงงานต้องเข้ามาทำงานก่อนวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนประเด็นที่นักวิชาการมองว่า พ.ร.ก.เป็นยาเเรง ที่ต้องปรับระบบการตรวจสอบให้เข้มข้นเพราะปัจจุบันมีต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยเกือบ 4 ล้านคน แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการทำงานมีไม่ถึง 200 คน ยอมรับเจ้าหน้าที่อาจดูแลไม่ทั่วถึง หรือมีบางส่วนอาจเรียกรับผลประโยชน์จากแรงงาน
กระทรวงแรงงานคาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียน 1,500,000 คน ไม่รวมแรงงานที่มีใบอนุญาตแล้ว 2,600,000 คน หากไม่เป็นตามเป้าอาจสะท้อนปัญหาแรงงานเถื่อน และส่งผลกระทบให้ขาดแรงงาน โดยเฉพาะในภาคประมง ซึ่งปัจจุบันขาดแคลนอยู่แล้วเกือบ 80,000 คน สูญมูลค่า ทางเศรษฐกิจ 20,000 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย