กรุงเทพฯ 23 ก.ค.- กระทรวงพลังงานย้ำกฎหมายบังคับอาคารประหยัดพลังงาน มีผลบังคับใช้ไตรมาส 2/61 พร้อมดึงแสนสิริ-แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ร่วมออกแบบบ้านอนุรักษ์พลังงาน
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมอาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ ต.คลองห้า จ.ปทุมธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ทางกระทรวงพลังงานเน้นเดินหน้าแผนอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนสร้างอาคารหรือปรับปรุงอาคารให้เน้นเรื่องประหยัดพลังงาน นับเป็นเรื่องสำคัญและปีหน้าทั้งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยได้ประสานและเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคารและมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code (BEC) แล้ว หลังจากนี้ขั้นตอนต่าง ๆ ก็จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีและส่งผ่านไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อประกาศบังคับใช้ได้ประมาณไตรมาส 2 ปี 2561
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดี พพ. กล่าวว่า ภายใต้กฎกระทรวงดังกล่าวจะบังคับ 9 ประเภทอาคารได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน (หอประชุม) โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า จะต้องออกแบบอาคารภายใต้เกณฑ์ BEC ดังกล่าว โดยจะนำร่องอาคารขนาดใหญ่พื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไปในปี 2561 และทยอยบังคับใช้อาคารพื้นที่ตั้งแต่ 5 ,000 ตร.ม.ภายในปี 2563 และตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ในปี 2565
“อาคารที่มีขนาดมากกว่า 10,000 ตร.ม.ขึ้นไปจะมีประมาณ 100 แห่งต่อปี เป้าหมายจะลดการใช้พลังงานมากกว่าร้อยละ10 โดยผู้ก่อสร้างจะต้องยื่นแบบให้ พพ.ตรวจสอบแผนอนุรักษ์พลังงานตามแผนบังคับก่อนเสนออนุมัติแบบก่อสร้างจากกรมโยธาฯ” นายประพนธ์ กล่าว
นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พพ. กล่าวด้วยว่า พพ.ยังเตรียมร่วมมือกับ บมจ.แสนสิริ และ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในการส่งเสริมการออกแบบอาคารและที่อยู่อาศัยเพื่ออนุรักษ์พลังงานตามกฏหมายเพิ่ม หลังจากก่อนหน้านี้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ 5 รายไปแล้ว ได้แก่ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย, พฤกษา เรียลเอสเตท, เซ็นทรัล พัฒนา, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ และนารายณ์พร็อพเพอร์ตี้
นอกจากนี้ พพ.ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ผ่านการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานหลายโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เก่าให้เป็นอุปกรณ์ใหม่ที่เป็นการประหยัดพลังงานวงเงิน 300 ล้านบาท โดยเป็นการสนับสนุนเงินให้เปล่า แต่ไม่เกินรายละ 1.5 ล้านบาท แบ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) สนับสนุนร้อยละ 30 ของเงินลงทุน และโรงงานขนาดใหญ่ร้อยละ 20 ของเงินลงทุน ปิดรับสมัครวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ โครงการส่งเสริมการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานระบบปรับอากาศขนาดใหญ่และระบบทำความเย็นในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ (DSM Chiller) ปิดรับสมัครวันที่ 30 สิงหาคมนี้ โดยกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนวงเงิน 500 ล้านบาท ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า 1 บาท/หน่วย, โครงการสนับสนุนผ่านสถาบันการเงิน11 แห่ง เพื่อปล่อยกู้ร่วมกับกองทุนส่งเสริมเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 4,500 ล้านบาท (ปี 2559-62 ) อัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 3.5 ซึ่งขณะนี้ปล่อยกู้แล้ว 1,000 ล้านบาท โดยยังเหลือวงเงินอีกประมาณ 3,500 ล้านบาท. -สำนักข่าวไทย