พิษณุโลก 13 ก.ค. – สำนักชลประทานที่ 3 เร่งแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำในลุ่มน้ำยม เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เกษตรในโครงการบางระกำโมเดล ซึ่งข้าวออกรวงแล้ว และอีกไม่นานจะเก็บเกี่ยวได้
ในแม่น้ำยมสายเก่า สะพานที่ใช้สัญจรข้ามฝั่งเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ เนื่องจากแม่น้ำกว้าง 100 เมตร แต่สะพานยาวเพียง 24 เมตร เกิดคอคอดบีบทางน้ำ
น้ำระบายผ่านใต้สะพานระหัน ได้เพียง 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระยะเวลาก่อสร้างสะพาน 180 วัน จึงต้องมีแผนแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยทำทางผันน้ำและนำสะพานแบลีย์มาใช้สัญจร ใต้สะพานทำช่องระบายน้ำเพิ่มได้อีก 265 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากน้ำเหนือไหลมามาก นาในทุ่งบางระกำซึ่งยังไม่ได้เก็บเกี่ยวก็จะไม่ถูกน้ำท่วม
เกษตรกรตำบลบ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก อุ่นใจขึ้น เมื่อรับทราบแนวทางแก้ไขสะพานระหัน ที่บีบทางน้ำ ซึ่งทำให้น้ำท่วมนาของพวกเขาทุกปี จากนี้ไปจะได้รับการแก้ปัญหาอย่างถาวร หากสะพานแล้วเสร็จ น้ำแม่น้ำยมสายเก่าจะระบายผ่านได้ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
แม่น้ำยมสายเก่าเป็นหนึ่งในลำน้ำหลักของลุ่มน้ำยมที่เลี้ยงพื้นที่เกษตรในบางระกำโมเดล พื้นที่ในโครงการบางระกำโมเดลประกอบด้วย อ.เมือง พรหมพิราม และบางระกำ พิษณุโลก รวมทั้งอำเภอกงไกรลาศ จ.สุโขทัย รวม 260,000 ไร่
รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้กรมชลประทานส่งน้ำเข้าสู่ทุ่งบางระกำให้เร็วขึ้น เพื่อให้ชาวนาปลูกข้าวตั้งแต่ 1 เมษายน และเก็บเกี่ยวให้หมดภายในวันที่ 15 สิงหาคม จากนั้นจะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงรับน้ำเหนือ เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่ตอนล่าง หากปีนี้นาข้าวทุ่งบางระกำไม่ถูกน้ำท่วมเสียหาย และยังใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำช่วยพื้นที่อื่นให้ปลอดภัยด้วย นับว่าเป็นความสำเร็จตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งเป้าหมายไว้ และจะเป็นตัวอย่างเพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ลุ่มต่ำอื่น ๆ ต่อไป. – สำนักข่าวไทย