กรุงเทพฯ 7 ก.ค. – มีหลายมุมมองทั้งเห็นด้วยและเป็นห่วงต้นทุนเพิ่ม หลัง กบง.ประกาศการค้าก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจีสมบูรณ์แบบที่จะเริ่มขึ้น 1 ส.ค.
หลังจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ( กบง.) วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 มีมติลอยตัวราคาแอลพีจีแบบสมบูรณ์ทั้งราคาขายส่งและขายปลีก จะเริ่มมีผลวันที่ 1 สิงหาคม 2560 มีเสียงสะท้อนจากบรรดาแม่ค้าข้าวแกงว่ายังไม่ค่อยเข้าใจและกลัวราคาจะขยับขึ้น
น.ส.ปวีณา ปรีดี แม่ค้าข้าวมันไก่ย่านห้วยขวาง กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันใช้ก๊าซหุงต้มถัง 15 กิโลกรัม ราคา 435 บาท/ถัง สัปดาห์ละ 3 ถัง หากราคาลอยตัวแล้วต้นทุนไม่แพงขึ้นก็รับได้ แต่หากแพงขึ้นก็คงไม่สามารถนำมาปรับราคาสินค้าได้ โดยตั้งแต่ต้นปี เช่น ราคาข้าวมันไก่ที่ร้านขยับขึ้นจากจานละ 30 บาท เป็น 40 บาท ก็มาจากต้นทุนอื่นเป็นหลัก ใช้เนื้อไก่และข้าวคุณภาพดี และปรับขึ้นตามราคาตลาด ซึ่งที่ผ่านมาร้านไม่ทราบเรื่องการเข้ามาช่วยเหลือราคาก๊าซต้นทุนต่ำ 18.30 บาท/กิโลกรัม ที่กระทรวงพลังงานช่วยเหลือเปิดให้แม่ค้า-พ่อค้าลงทะเบียน จึงไม่เคยใช้สิทธิ์แต่อย่างใด
นายสมเกียรติ เอกโพธิ์ พ่อค้าร้านต้มเลือดหมู ย่านห้วยขวาง กล่าวว่า เข้าใจเรื่องกลไกตลาดโลกที่ราคาขณะนี้ก๊าซหุงต้มตลาดโลกลดลงตามราคาน้ำมัน เมื่อลอยตัวแล้วราคาทรงตัวหรือลดลงก็ไม่เป็นไร แต่หากราคาโลกขึ้นเหมือนในอดีตแล้วราคาลอยตัว ร้านค้าคงเดือดร้อน เพราะคงไม่สามารถปรับราคากับลูกค้าได้ จึงต้องการเห็นความชัดเจนจากภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือ หากราคาปรับขึ้นสูงมาก ทั้งนี้ ในส่วนของร้านค้าไม่ได้มีการสมัครเข้าโครงการรับช่วยเหลือก๊าซราคาถูก 18.30 บาท/กิโลกรัม จากกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ กล่าวว่า การลอยตัวราคาเป็นผลดีที่โรงกลั่นฯ ไม่ต้องเข้าไปอุดหนุนราคาอีก จากที่ผ่านมามีการอุดหนุนก่อนการประกาศกึ่งลอยตัวราคาเมื่อต้นปี 2560 ที่ราคาซีพี ติดลบ 20 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และสูตรกึ่งลอยตัวก็ยังต้องอุดหนุน ซึ่งขณะนี้กำลังคำนวณว่าผลตอบแทนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเพียงใด โดยบริษัทขายแอลพีจีในตลาดไม่มากอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตัน/ปี
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ไออาร์พีซี และประธาน กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ราคากึ่งลอยตัวปัจจุบันโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซฯ ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันสำหรับบัญชีแอลพีจีประมาณ 48 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ยอดนี้คำนวณมาจากค่าขนส่งและประกันภัยสำหรับการนำเข้าแอลพีจี ดังนั้น หากยกเลิกก็ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตก๊าซในประเทศและผู้นำเข้า ที่ปัจจุบันผู้นำเข้าไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้แต่อย่างใด ขณะที่การนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและผู้ผลิตในประเทศอาจจำเป็นต้องส่งออก ดังนั้น เมื่อปลดล็อคการอุดหนุนก็ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและสร้างประโยชน์ต่อผู้บริโภค
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันที่ 1สิงหาคม 2560 นับว่าเป็นการเปิดเสรีแอลพีจีครั้งแรกสมบูรณ์แบบของประเทศไทย ทำให้เกิดการแข่งขันการนำเข้า ราคาจำหน่ายเป็นผลดีต่อผู้บริโภคและยังรองรับการนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้นนับแสนตันต่อเดือน หลังก๊าซธรรมชาติในประเทศลดลง ซึ่งกรณีที่ชาวบ้านหวั่นเกรงราคาจะสูงขึ้น กบง.ก็ระบุชัดเจนว่าหากราคาโลกสูงจนถึงขึ้นวิกฤติกระทบราคาในประเทศ กบง.จะนำส่วนนี้มาดูได้
ส่วนการอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยและร้านค้าหาบเล่แผงลอยอัตรา 18.30 บาท/กิโลกรัมนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานประสานกับกระทรวงการคลังว่าการช่วยเหลือจะผ่านบัตรช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่วงเงินช่วยเหลืออาจจะมาจากกองทุนน้ำมันบัญชีแอลพีจี. – สำนักข่าวไทย