กทม. 3 ก.ค.-หัวหน้า คสช. เตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อผ่อนคลายปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานต่างด้าว โดยจะชะลอบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ใน 3 มาตรา
สำหรับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มีคำยืนยันจากฝั่งรัฐบาลแล้วว่าจะเป็นการชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ใน 3 มาตรา ประกอบด้วยมาตรา 101 แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, มาตรา 102 นายจ้างที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน ต้องระวางโทษปรับ 400,000-800,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และมาตรา 122 ผู้ที่รับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตน ต้องระวางโทษปรับ 400,000-800,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน โดยจะชะลอการบังคับใช้กฎหมายตามมาตราดังกล่าวออก 120 วัน มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ส่วนเนื้อหาทั้งหมดของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ นอกเหนือจาก 3 มาตราข้างต้น จะมีผลบังคับใช้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่ในช่วงผ่อนคลายปัญหา รัฐบาลได้ขอให้ทุกฝ่ายอย่าตื่นตระหนก และขอให้แรงงานปฏิบัติตามหลักใหญ่ 2 ข้อ ประกอบด้วย 1.แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ให้ออกนอกประเทศเพื่อไปขออนุญาตให้ถูกต้อง 2.แรงงานที่เข้ามาถูกกฎหมาย แต่ทำงานผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต ให้ไปสำนักงานจัดหางานจังหวัดฯ เพื่อเปลี่ยนการทำงานให้ถูกต้อง ซึ่งจะสามารถทำงานได้ตามปกติ
สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ 4 ข้อ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ 3 ข้อ ทั้งการให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับแรงงาน, เร่งแก้ปัญหาจ่ายเงินชดเชยกรณีลูกจ้างต้องกลับไปประเทศต้นทาง เพื่อกลับเข้ามาทำงานใหม่ และการเร่งประชาสัมพันธ์กฎหมายแรงงานต่างด้าวให้นายจ้างเข้าใจได้ง่าย ส่วนข้อเสนอให้รัฐบาลตั้งหน่วยหรือศูนย์จดทะเบียนขึ้นใหม่ในประเทศ ไม่สามารถทำได้ เพราะติดเงื่อนไข MOU กับ 3 ประเทศ
ล่าสุดนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เห็นด้วยกับรัฐบาลในการออกมาตรา 44 ผ่อนคลายผลกระทบ โดยยอมรับว่ากฎหมายแรงงานฉบับนี้มีบทลงโทษรุนแรง และเอกชนปรับตัวตามไม่ทัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอี
ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า รัฐบาลเตรียมพิจารณาผลกระทบจาก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับนี้ และเตรียมทบทวนหามาตรการรองรับ เพื่อไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเดือดร้อน
ส่วนสถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือนพฤษภาคม 2560 ที่จัดเก็บโดยสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่ามีจำนวนรวมทั้งหมด 1,481,535 คน แบ่งเป็นเพศชายประมาณ 860,000 คน และหญิง 610,000 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวในกรุงเทพฯ 240,000 คน และภูมิภาคต่างจังหวัด 1.2 ล้านคน
ขณะที่จังหวัดที่ใช้แรงงานต่างด้าวมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ รองลงมาคือ ปทุมธานี 170,000 คน ตามมาติดๆ คือ สมุทรสาคร ประมาณ 150,000 คน ต่อด้วยนนทบุรีและนครปฐม ตามลำดับ
สำหรับแรงงานเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา 3 ประเทศ มีแรงงานต่างด้าวมากสุดในไทย รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านคน เป็นแรงงานประเภทพิสูจน์สัญชาติ 850,000 คน แรงงานนำเข้าตาม MOU จำนวน 410,000 คน แต่โฟกัสเฉพาะกลุ่มประเภทพิสูจน์สัญชาติ พบว่าแรงงานเมียนมาร์มีมากสุดประมาณ 710,000 คน รองลงมาเป็นลาวและกัมพูชา
จำแนกตามประเภทกิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าวมากที่สุด อันดับ 1 คือภาคกิจการก่อสร้าง ประมาณ 150,000 คน, เกษตรและปศุสัตว์ ประมาณ 110,000 คน รองลงมาคือ ภาคบริการ ส่วนจำนวนแรงงานภาคอื่นๆ ที่น่าสนใจมีทั้งภาคการประมง มีแรงงานรวม 11,286 คน แรงงานจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 50,873 คน และแรงงานกิจการต่อเนื่องการเกษตร ประมาณ 77,075 คน เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย