สำนักข่าวไทย 30 มิ.ย.- รพ.จุฬาภรณ์ ผลิตสารรังสีพีเอสเอ็มเอ ใช้ในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากสำเร็จแห่งแรกของไทย พร้อมเตรียมจัดโครงการตรวจรักษาราคาพิเศษแก่ผู้ป่วย ถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
รศ.พญ.ชนิสา โชติพานิช ผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ฝ่ายเวชศาสตร์นิวเคลียร์และเพทสแกน กล่าวในการแถลงข่าวความสำเร็จในการผลิตสารเภสัชรังสีจีเอ-พีเอสเอ็มเอ (GA-PSMA : Gallium-68 Prostate Speclfic Membrane) เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่แรกในประเทศไทย ว่า ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ เปิดมากว่า 11 ปี ดำเนินการศึกษาหาวิธีการตรวจและให้การรักษาโรคมะเร็ง และโรคทางระบบสมอง ทั้งอัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการผลิตสารเภสัชรังสีสำคัญมาแล้ว 7 ตัว ล่าสุดก็พัฒนาสารเภสัชรังสี ตัวที่ 8 หรือเรียกว่า สารจีเอ-พีเอสเอ็มเอ 68 เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีความแม่นยำและจำเพาะต่อโรคสูง โดยหลักจะฉีดให้กับผู้ป่วยโดยคำนวณจากน้ำหนักตัว การปรุงรังสีจะทำต่อเมื่อมีผู้ป่วยเข้ารับการตรวจ เนื่องจากอายุของรังสีมีเพียงครึ่งชีวิต อยู่นานได้แค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นเมื่อเข้าสู่การทำเพทสแกน 30 นาที สารรังสีที่ฉีดจะเรืองแสงในจุดที่มีปัญหา ทำให้ตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้รวดเร็วขึ้น
รศ.พญ.ชนิสา กล่าวว่า สำหรับกระบวนการพัฒนาสารรังสีนี้ได้พัฒนามาจากสารตั้งต้นในประเทศเยอรมนี ใช้กระบวนการศึกษา นับปี และพัฒนาสำเร็จได้ใน 1 วัน เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา และขณะนี้เตรียมนำมาใช้รักษาผู้ป่วยภายในเดือน ก.ค.นี้ ราคาครั้งละ 25,000 บาท/ครั้ง ซึ่งเป็นราคาพิเศษที่ให้กับผู้ป่วยชาวไทย เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ และมีการผลิตสารเพื่อจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลอื่นในราคาพิเศษด้วย โดยโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประสานขอซื้อสารดังกล่าวเข้ามาแล้ว
ด้าน นพ.วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา หัวหน้างานอายุรกรรม รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก พบในผู้ชายวัย 50 ปีขึ้นไป โดยคนอายุ 70ปี พบได้ 90 ต่อแสนประชากร ส่วนวัย 75 ปี พบได้ 110 ต่อแสนประชากร ทั้งนี้ การใช้สารเภสัชรังสีดังกล่าวในกลุ่มผู้ป่วยเดิมที่ทำการอยู่รักษาแล้วดูว่าโรคกำเริบหรือไม่ ซึ่งจะมีความแม่นยำ ทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้นด้วย.-สำนักข่าวไทย