กระทรวงแรงงาน 29 มิ.ย.-อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยนายกรัฐมนตรีกำชับเจ้าหน้าที่ห้ามใช้ช่องว่างระหว่างประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ในการเรียกรับผลประโยชน์ หากพบดำเนินการเด็ดขาด ยันตำรวจ ทหาร ไม่มีสิทธิปรับซึ่งหน้า
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน แถลงภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางมาประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงและตรวจเยี่ยมการทำงานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายถึงข้อกังวลของหลายฝ่าย หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งเพิ่มโทษปรับนายจ้างใช้แรงงานผิดกฎหมายไว้ตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงและได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด และห้ามไม่ให้ใช้ช่องว่างระหว่างที่บังคับใช้กฎหมายในช่วงต้นไปเรียกรับผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวและผู้ประกอบการ หากพบว่าเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ จะถูกดำเนินการอย่างเด็ดขาด รวมทั้งต้องหามาตรการผ่อนคลายเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจ
“ยอมรับว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายใหม่ อาจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานประเภทงานก่อสร้าง งานรับใช้ในบ้าน และเอสเอ็มอี ดังนั้นระหว่างนี้จะยังไม่มีการเข้าไปตรวจจับ โดยผ่อนผันให้ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวไปดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้อง โดยการส่งตัวแรงงานกลับไปทำพาสปอร์ต วีซ่า และขึ้นทะเบียนในระบบให้ถูกต้อง หรือดำเนินการผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 20,000 บาทต่อคน เพราะล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ทำเอ็มโอยูกับลาว กัมพูชา และพม่า เพื่อแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 1-2 เดือน แรงงานที่ถูกกฎหมายก็จะกลับเข้ามาทำงานตามปกติ แต่ระหว่างนี้ นายจ้างสามารถจ้างคนไทยที่มาขึ้นทะเบียนขอทำงานเดือนละ 6,000-7,000 คน” นายวรานนท์ กล่าว
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า โทษของกฎหมายใหม่ที่มีการเพิ่มค่าปรับเป็น 400,000-800,000 บาทไม่ได้สูงเกินไป เพราะเป็นมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับการกำหนดโทษของการใช้แรงงานเด็กและประมง ขณะเดียวกันหากเจ้าหน้าที่จะเข้าไปจับกุม ต้องมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งตำรวจ ทหาร ไม่มีสิทธิเปรียบเทียบปรับ ณ จุดเกิดเหตุได้ โดยเมื่อมีการจับกุม หากผู้กระทำความผิดรับสารภาพ ก็จะนำไปสู่การเสียค่าปรับตามกฎหมาย ให้เป็นอำนาจของนายทะเบียน ซึ่งคือผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งปรับได้ แต่หากทำผิดแต่ไม่ยอมรับสารภาพ ต้องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ จากนั้นจะนำคดีส่งอัยการ การเปรียบเทียบปรับเป็นดุลยพินิจของศาล ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่อนคลายเรื่องการจำกัดการย้ายพื้นที่ทำงาน แต่กำหนดให้แรงงานที่เปลี่ยนนายจ้างใหม่ต้องแจ้งย้ายนายจ้าง ซึ่งเสียค่าธรรมเนียมการเปลี่ยน จำนวน 100 บาท.-สำนักข่าวไทย