กรุงเทพฯ 23 มิ.ย. – กรมชลฯ เตรียมเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ รับมือฝนทิ้งช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคมนี้
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) พบว่า วันนี้ (23 มิ.ย.) สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 41,974 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมดมากกว่าปี 2559 รวม 9,634 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 18,155 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 8,521 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,238 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,415 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,402 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,719 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 1,317 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,456 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม พบว่าปริมาณฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนลดน้อยลงมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก (ปิง และน่าน) ลดลง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ตอนบนบริเวณจังหวัดตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม โดยเขื่อนภูมิพลจะเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เป็น 5 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ จากวันละ 8 ล้าน ลบ.ม.เป็นวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศและสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถานบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร คาดการณ์สภาพอากาศว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางช่วงปลายเดือนมิถุนายน –กลางเดือนกรกฎาคม มีฝนน้อยลง โดยเฉพาะพื้นที่อับฝน ส่วนพื้นที่ด้านรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงมีฝนตกกระจายแต่อยู่ในเกณฑ์ไม่มาก จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้การใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก เพิ่มขึ้นจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จนกระทั่งเกิดฝนตกชุก จึงจะเริ่มลดการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด สำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า
ทั้งนี้ กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศประมาณ 33,332 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาคาดว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 12,012 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่มากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ฤดูแล้งหน้าจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน.-สำนักข่าวไทย