กรุงเทพฯ 23 มิ.ย. – กกพ.ย้ำ Backup Rate เก็บจากผู้ใช้รายใหญ่ที่ใช้พลังงานทดแทนทุกประเภท
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณากำหนดอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) เพื่อรองรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (Isolated Power Supply :IPS) ว่า ไม่ได้มุ่งหวังให้ครอบคลุมสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายเล็ก หรือในครัวเรือน แต่จะจัดเก็บเพียงกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่ อย่างในกลุ่มโรงงาน หรือห้างสรรพสินค้า ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่านั้น ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งระบบไฟฟ้าหลักของประเทศอยู่ โดยมอบหมายให้ 3 การไฟฟ้าไปพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วนำเสนอกลับมาให้ กกพ.พิจารณาต่อไป
สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองที่อาจจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสำรองจะไม่จำกัดเพียงเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) แต่ยังรวมกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่น ๆ ทั้งกลุ่มชีวมวล เช่น กลุ่มโรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล เพราะกลุ่มนี้แม้จะมีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องซื้อไฟฟ้าจากระบบใช้ด้วยเช่นกัน เพราะผลิตใช้เองเป็นบางช่วงแต่บางครั้งโรงไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองอาจเสียและต้องหยุดซ่อมบำรุง ก็จะต้องกลับมาซื้อไฟฟ้าจากระบบเพิ่ม ซึ่งกรณีนี้ทำให้ระบบผลิตรวมยังคงต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพื่อรองรับกรณีดังกล่าวด้วย ก็คงต้องเอาตัวเลขมาพิจารณากันต่อไป
“กกพ.สนับสนุนพลังงานทดแทน แต่เมื่อระบบรวมผลิตสำรองป้อนประชาชนส่วนใหญ่ก็รับต้นทุนค่าไฟฟ้าตรงนี้ ดังนั้น เมื่อผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนหันไปผลิตเอง แต่ยังต้องการระบบสำรองไฟฟ้าของส่วนรวม เพื่อความเป็นธรรม ก็ต้องจ่ายค่าสำรองด้วย แต่อัตราเท่าใด กกพ.กำลังศึกษา” นายวีระพล กล่าว
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยัน กฟผ.ไม่ได้เสนอการเก็บค่าไฟฟ้าสำรองต่อ กกพ.ตามที่มีประเด็นข่าวว่า กฟผ.ได้เสนอเรื่องให้ กกพ.จัดเก็บค่าระบบสำรองไฟฟ้า ที่ 100 – 200 บาท/เดือน สำหรับผู้ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังคงพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยเรื่องนี้ กกพ.เป็นผู้พิจารณาดำเนินการและอยู่ระหว่างการศึกษา.-สำนักข่าวไทย