รัฐสภา 22 มิ.ย.- สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติวาระ 3 ขณะที่กรรมาธิการฯย้ำ จำเป็นต้องมีประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่ประธานศาลฎีการ่วมเป็นกรรมการไม่ได้ หวั่นไม่เป็นกลาง
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. …. มีทั้งสิ้น 29 มาตรา แก้ไข 5 มาตรา สาระสำคัญ คือ การกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี การกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ของคณะรัฐมนตรีก่อนจะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
นอกจากนี้ยัง กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 35 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รองนายกรัฐมนตีหรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 13 คน อาทิ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้นำเหล่าทัพ และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้จะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 17 คนที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง และมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ขณะที่สมาชิก สนช.ท้วงติง มาตรา 12 เรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นว่า หากกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง เกรงว่า ในอนาคตจะเกิดปัญหาหากมีประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่มีจริยธรรม เป็นคนไม่ดี และอาจเกิดการทุจริตได้ง่าย รวมทั้งเห็นว่า ควรแก้ไขในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ควรเพิ่มในส่วนของภาคอุตสาหกรรม การเงิน การลงทุน งบประมาณด้านการวิจัย เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ครอบคลุม
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หนึ่งกรรมาธิการฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ยุทธศาสตร์ชาติมีความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณประจำปี และการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศต้องเข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งต้องมีการควบคุม ต้องกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่งด้วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแบ่งแยกอำนาจไว้อย่างเคร่งครัด
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กรรมาธิการขอยืนยันตามร่างเดิมของคณะรัฐมนตรี ส่วนข้อเสนอที่ให้ตั้งประธานศาลฎีกาเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั้น เนื่องจากเมื่อมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือผู้เกี่ยวข้องกับคณะกระทำความผิด คณะกรรมการต้องเข้ารับการตรวจสอบทางกฎหมาย หากให้ประธานศาลฎีกาเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาการชุดดังกล่าว อาจทำให้เกิดความไม่เป็นกลางได้
จากนั้น ที่ประชุมสนช.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยคะแนนเสียง 218 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย