ก.เกษตรฯ 21 มิ.ย. – กระทรวงเกษตรฯ จัดทำแผนปลูกข้าวครบวงจร ชูการตลาดนำการผลิต สนับสนุนผลิตข้าวมาตรฐานสากล ปรับการทำนาเน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำร่องภาคอีสานและภาคกลาง คาดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 26 ในระยะเวลา 5 ปี
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนการปลูกข้าวครบวงจร คือ แผนการผลิต แผนการตลาด แผนการจำหน่าย โดยแผนการปลูกต่อไปนี้จะต้องสอดคล้องกับแผนของกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ตลาดนำการผลิต เพื่อชาวนาจะได้พบกับเจ้าของโรงสีโดยตรงและมีการตกลงล่วงหน้าว่าจะซื้ออย่างไร ปริมาณเท่าไหร่ ราคาประมาณเท่าไหร่ เป็นต้น
นางสาวชุติมา เปิดเผยถึงความก้าวหน้าและสถานการณ์การผลิตข้าวคุณภาพมาตรฐานสากลของไทย ว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีการผลิตข้าวคุณภาพมาตรฐานปลอดภัย (GAP) ในพื้นที่นาแปลงใหญ่ปี 2560 จำนวน 1,175 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1.8 ล้านไร่ ชาวนา 130,230 ราย ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 มีการนำร่องยกระดับการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานสากลที่มีการพัฒนาระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรให้มีผลผลิตสูงขึ้น กรมการข้าวจึงร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) สนับสนุนให้มีการผลิตข้าวมาตรฐานยั่งยืน เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและปี 2560 จะขยายไปจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางอีก 6 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง ซึ่งคาดว่าการผลิตข้าวในเขตพื้นที่ชลประทานจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.664 ล้านเมตริกตัน หรือร้อยละ 26 ตลอดระยะเวลา 5 ปี จากการประเมินของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ.-สำนักข่าวไทย