กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – ปัญหาพื้นที่ปิโตรเลียมในที่ดิน ส.ป.ก. คาดพรุ่งนี้ได้ข้อยุติ รัฐบาลพิจารณา 4 แนวทาง รวมถึงใช้ ม.44 แก้ปัญหา
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (20 มิ.ย.) ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะนำเรื่องการแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ปิโตรเลียมในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่หยุดดำเนินการ หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีข้อสรุปในการแก้ไขโดยเร็ว เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นเรื่องใหญ่เฉพาะกิจการปิโตรเลียมที่หยุดการผลิตในพื้นที่ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณเกือบ 50 ล้านบาท/วัน นอกจากกิจการปิโตรเลียมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ดิน ส.ป.ก.ยังเกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานทดแทนและทรัพยากรเหมืองแร่ด้วย
นายวิษณุ กล่าวว่า เบื้องต้นวางแนวทางแก้ไขปัญหา 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การถอนสภาพที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งสามารถทำได้ แต่ที่ดินจะเปลี่ยนสภาพจากที่ดินที่ให้ประโยชน์กับเกษตรกรไปเป็นที่ดินราชพัสดุ ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานดูแล อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้จะมีผลกระทบ เช่น พื้นที่แหล่งน้ำการเกษตรบางส่วน เพราะปัจจุบันเหมืองแร่เก่าเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำการเกษตรและกองทุนพัฒนาเกษตรกร ส.ป.ก. ที่ปัจจุบันจัดเก็บรายได้ก็จะหยุดชะงักเช่นกัน ผู้เสียประโยชน์ก็คือเกษตรกร
2.การแก้ไขกฎหมาย ส.ป.ก. ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนาน 3.การออกระเบียบภายใต้เงื่อนไขข้อกฎหมาย ส.ป.ก.เพื่อปลดล็อคการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.ตามที่กฎหมายมาตรา 19 และมาตรา 30 ได้เปิดช่องทางให้ไว้ ซึ่งหากใช้แนวทางนี้จะแก้ไขได้เฉพาะกรณีที่ดิน ส.ป.ก.ที่ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า แต่จะไม่ครอบคลุมกิจการปิโตรเลียม และ 4.การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ในส่วนที่มีปัญหา
นายวิษณุ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ไว้ 7 แนวทาง ได้แก่ 1.แก้ไขปัญหาในพื้นที่จำกัดเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหา ไม่ขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ 2.เป็นพื้นที่ซึ่งด้อยศักยภาพทางการเกษตร หรือเป็นพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร ควรดำเนินกิจการพลังงานและเหมืองแร่ และให้เกษตรกรได้รับค่าเช่าและผลประโยชน์มากกว่าการทำเกษตร 3.พื้นที่ที่รัฐมีสัญญากับเอกชนตั้งแต่เดิม และเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนในกิจการพลังงานและเหมืองแร่ต้องพิจารณาขนาดของกิจการด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด
4.การชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ของกิจการ 5.ผลประโยชน์ตอบแทนที่เกษตรกรจะได้รับ 6.ผลเสียหรือผลกระทบที่จะตามมาจากการแก้ไขปัญหา และ 7.การแก้ไขปัญหาต้องไม่เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจในการพิจารณา โดยการปลดล็อคกำหนดให้เฉพาะประเด็นที่ดิน ส.ป.ก.โดยไม่เกี่ยวข้องกับข้อติดขัดอื่น ๆ เช่น เรื่องผังเมืองในการควบคุมกิจการ เป็นต้น
“เรื่องความชัดเจนขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยใช้แนวทางที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ โดยต้องพิจารณาสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย” นายวิษณุ กล่าว
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การให้สัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ใด ๆ หากมีแปลงสัมปทานอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมได้กำชับและสั่งการให้บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบในการเข้าพื้นที่อย่างเคร่งครัด สำหรับแปลงสัมปทานในพื้นที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร นั้น ได้รับสัมปทานเมื่อปี 2522 และบริษัทผู้รับสัมปทานมีการเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมและมีการผลิตน้ำมันดิบเพื่อใช้ประโยชน์ภายในประเทศตั้งแต่ปี 2524 โดยการดำเนินการดังกล่าวได้ดำเนินการก่อนที่จะมีการกันพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งต่อมาเมื่อมีการประกาศพระราชกำหนดพื้นที่ ส.ป.ก. บริษัทผู้รับสัมปทานก็ได้ดำเนินการยื่นขออนุมัติเข้าใช้พี้นที่ตามกฎระเบียบของ ส.ป.ก.อย่างถูกต้องทุกขั้นตอน
สำหรับการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นการให้โอกาสประเทศในการนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศในรูปแบบค่าภาคหลวงปิโตรเลียม โดยจัดสรรให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นถึงร้อยละ 60 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 16,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังมีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาด อาทิ การนำก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต้องเผาทิ้งบางส่วนมาใช้แทนก๊าซหุงต้มในการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรของท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มสหกรณ์หนองตูม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย