กทม. 18 มิ.ย.-นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อให้สาขาพรรคและสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวผู้สมัคร หรือระบบไพรมารีโหวต (Primary Vote) ว่าเป็นการเลือกตั้งขั้นต้นผู้สมัคร ส.ส.โดยให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรค มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง ร่วมกับคณะกรรมการบริหารพรรคในการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.อย่างเปิดกว้าง เสมอภาค และโปร่งใส เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปการเมืองที่วางหลักการสำคัญ นั่นคือพรรคการเมืองต้องเป็นของสมาชิกทุกคน ไม่ใช่ของคนใด ตระกูลใดกลุ่มใด ไม่ว่ากลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอิทธิพลระดับชาติและท้องถิ่น
ส่วนที่พรรคการเมืองกังวลว่าจะทำได้ยาก หรืออาจเกิดความขัดแย้งในการคัดเลือกผู้สมัครหรือทาบทามผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือจะเกิดระบบเครือญาติและกลุ่มทุนครอบงำพรรคนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ความจริงสิ่งที่กังวลทั้ง 4 ประการ คือปัญหาที่เกิดในทุกพรรคการเมืองจากอดีตถึงปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่ใช่จะเกิดขึ้น เพราะระบบไพรมารี่ ในทางตรงข้ามระบบไพรมารี่กลับจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริง
“ผมเป็นคนเสนอให้นำระบบไพรมารีมาใช้เป็นเครื่องมือการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์สมัยเป็นรองหัวหน้าพรรค โดยทดลองระบบไพรมารีที่จังหวัดอยุธยาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มั่นใจว่าถ้านำมาใช้จะเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน จึงได้เสนอให้บรรจุในแผนปฏิรูปการเมืองของสภาปฏิรูปแห่งชาติตั้งแต่ปลายปี 2557 สืบต่อมาจนถึงยุคของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและเห็นด้วยที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติบัญญัติไว้ในพ.ร.ป.พรรคการเมือง” นายอลงกรณ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย