สมุทรสงคราม 17 มิ.ย. – ปลาหมอสีระบาดหนัก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ต.แพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม ปล่อยกุ้งขาว 700,000 ตัว แต่พอวิดบ่อแทบเป็นลม ไม่มีกุ้ง มีแต่ปลาหมอสี 5,300 กิโลกรัม ขาดทุนยับ
นายสุนทร รอดบุญช่วย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม นำคนงานกว่า 20 คน วิดบ่อกุ้งธรรมชาติขนาด 70 ไร่ แบ่งเป็น 2 ร่อง ปล่อยกุ้งขาว 700,000 ตัว เลี้ยงมานานกว่า 6 เดือน แต่พบเพียงปลาหมอสีจำนวนมาก ไม่มีกุ้ง ทำให้นายสุนทรลมแทบจับ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ประมงเข้าตรวจสอบ
ด้านนายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม พร้อมนายอุดม รื่นเกษม ประมงอำเภออัมพวา น.ส.นภสร สุขพันธุ์ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบ
การจับปลาในครั้งนี้ต้องใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ ได้ปลาหมอสี 5,300 กิโลกรัม นำไปขายทำปลาร้าและอาหารสัตว์ต่อไป ราคากิโลกรัมละ 4.50 บาท เป็นได้เงินเงิน 23,850 บาท
นายสุนทรกล่าวว่า เลี้ยงสัตว์น้ำธรรมชาติในเนื้อที่ 70 ไร่ ก่อนหน้านี้ดันน้ำจากแหล่งน้ำเค็มตามธรรมชาติเข้าสู่บ่อ ปกติจะมีสัตว์น้ำตามธรรมชาติไหลตามตามเข้ามาด้วย ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรริมทะเลตามปกติ จากนั้นก็ปล่อยกุ้งขาว 700,000 ตัว เป็นเงิน 28,000 บาท ต่อมาเห็นปลาหมอสีเริ่มโตขึ้น ยังหวังว่าจะเหลือกุ้งบ้าง แต่วันนี้วิดบ่อแทบเป็นลม เมื่อเห็นแต่ปลาหมอสี ชั่งได้ 5,300 กิโลกรัม นำไปขายทำปลาร้าและอาหารสัตว์ต่อไป กิโลกรัมละ 4.50 บาท เป็นเงิน 23,850 บาท ขาดทุนยับ เพราะต้องเสียเวลา ค่าแรง ค่าอาหาร รวมเกือบ 100,000 บาท
นายสุนทรกล่าวว่า ปลาหมอสีระบาดในตำบลแพรกหนามแดง ส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากปลาหมอสีนี้มีนิสัยดุร้าย ปากใหญ่ เนื้อบาง และแข็ง รสชาติไม่อร่อย ไม่เป็นที่นิยมนำไปรับประทาน ปลาหมอสีเป็นปลากินเนื้อ จึงกินลูกปลาชนิดอื่นจนหมด ในอนาคตเกรงว่าหากปล่อยไว้ระระบาดไปทั่วสมุทรสงคราม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีลำคลองกว่า 300 สาย และมีลำประโดงซึ่งเป็นร่องน้ำธรรมชาติอีกนับพันสาย จึงอยากให้ประมงจัดหาปลากะพงมาปล่อยในแม่น้ำลำคลอง รวมทั้งช่วยเหลือปล่อยในบ่อของเกษตรกรระยะ 6 เดือนต่อครั้ง เพื่อให้ปลากะพงกินลูกปลาหมอสีจะได้ลดเหลือน้อยลง หรือหมดไปจากพื้นที่ ส่วนสาเหตุคาดว่ามีบริษัทบางแห่งนำมาทดลองเลี้ยงแต่ไม่ได้ผล จึงปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ กระทั่งออกลูกออกหลานจนระบาดมากขนาดนี้
น.ส.นภสร สุขพันธุ์ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี กล่าวว่า ปลาชนิดนี้เป็นสายพันธุ์เดียวกับปลาหมอสี มีรูปร่างคล้ายปลาหมอทะเล และปลานิล แต่เป็นปลาหมอสีชนิดไม่มีราคา เป็นปลากินเนื้อ ปากกว้าง เมื่อแพร่ระบาดก็จะกินสัตว์น้ำต่างๆ ชนิดอื่นที่ตัวเล็กๆ จนหมด จะคล้ายเอเลียนสปีชีส์ ที่มาทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่นจนหมด ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เพราะวิถีชีวิตของเกษตรกรจะนิยมดันน้ำเข้าบ่อโดยไม่ใช้ถุงกรอง เนื่องจากต้องการลูกสัตว์น้ำจากธรรมชาติเข้าสู่บ่อด้วย ส่วนการที่ปลาชนิดนี้ไม่มีราคา เนื่องจากเนื้อน้อยและแข็ง หัวโต ก้างใหญ่ จึงไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม จะหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ต่อไป
นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่าปลาหมอสีชนิดนี้มีบริษัทแห่งหนึ่งนำพันธุ์เข้ามาเพาะเลี้ยงในพื้นที่ หวังว่าจะเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่ไม่สำเร็จ จึงปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แนวทางการให้ความช่วยเหลือ ได้แจ้งไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบให้นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป. – สำนักข่าวไทย