รร.สวิสโฮเตล เลอ คองคอร์ด 16 มิ.ย.-สกศ.จัดประชุมนำเสนองานวิจัยและระดมแนวคิดพัฒนาการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มุ่งพัฒนาเด็กป้อนตลาดแรงงานในพื้นที่ เตรียมนำเสนอ คกก.อิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา สู่การทำเป็นร่าง พ.ร.ก.
นายเฉลิมชนม์ เเน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา รักษาการตำเเหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมแนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดขึ้นเพื่อเสนอผลการศึกษาวิจัยแนวทางพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อบริหารจัดการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และระดมความคิดเห็นในการเสนอแนวทางเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจสู่การปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายการบริหารจัดการของภาครัฐ
นายเฉลิมชนม์ กล่าวว่า การบริหารการศึกษาในเชิงพื้นที่ ต้องมองสภาพพื้นที่เป็นหลัก เดิมส่วนกลางมีอำนาจในการตัดสินใจจัดการศึกษา ทำให้บางครั้งเเก้ปัญหาไม่ได้ สถาบันการศึกษาผลิตนักศึกษาไม่ต้องตามความต้องการของตลาดเเรงงานในพื้นที่ ในความเป็นจริงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ควรอาศัยกรอบยุทธศาสตร์ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนเรื่องกลไล วิธีการเเละงบประมาณให้อยู่ในอำนาจของเขตพื้นที่เพื่อทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้นเเละตอบสนองพื้นที่เเละประเทศได้มากที่สุด
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้นำเสนองานวิจัยเรื่องรูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการในทุกระดับให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดเอกภาพในการดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้งานวิจัยกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อนำเสนอคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา นำไปสู่การทำเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาต่อไป
ด้าน น.ส.วรกาญจน์ สุขสดเขียว รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สรุปผลการวิจัยว่า แนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะต้องกระจายอำนาจให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อมดำเนินการจัดการศึกษา เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและสถานประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ ซึ่งหลักการในการบริหารจัดการมี 3 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้เรียนมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพคนให้มีความสมบูรณ์อย่างรอบด้าน ด้านสังคมมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างให้สังคมของเขตพัฒนาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และด้านสาระการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้มุ่งเน้นให้มีสาระการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของสถานประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นสำคัญ โดยจัดการศึกษาที่ยึดศักยภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งความรู้ ทักษะอาชีพ คุณธรรม จริยธรรม
ภายในงานได้มีการอภิปรายเรื่องกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนากฎหมายเพื่อการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ : มิติใหม่สู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติกล่าวว่า แนวทางในการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คือต้องลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ และสามารถแข่งขันได้ ภาครัฐร่วมมือสถานประกอบการและสถานศึกษาต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ตามศักยภาพและความถนัด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัยหรือการศึกษาตลอดชีวิต เพราะระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ คือระบบที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุขีดความสามารถและเต็มศักยภาพให้ไกลที่สุดเท่าที่ศักยภาพและความสามารถที่แต่ละบุคคลพึงมี ไม่ใช่ผ่านมาตรฐานของกระทรวงที่ได้เกียรตินิยมแต่ทำงานไม่ได้ก็ถือว่าไม่บรรลุผล.-สำนักข่าวไทย