กรุงเทพฯ 9 มิ.ย. – กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหาพื้นที่ปิโตรเลียมในที่ดิน ส.ป.ก. ด้านเอกชนหวังรัฐบาลสร้างความชัดเจนโดยเร็วที่สุด
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ได้เสนอ 2 แนวทางแก้ไขปัญหาพื้นที่ปิโตรเลียมในเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามวัตุประสงค์อื่น นอกเหนือจากเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร โดยแนวทางแรกเสนอระดับ ครม.ร่วมกันหาทางออก หรือเสนอระดับคณะกรรมการบริหารแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร่วมเป็นประธาน ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนว่าจะแก้กฎหมาย หรือออกประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ทำประโยชน์ได้ นอกเหนือจากการเกษตร หรืออาจจะใช้แนวทางปฏิบัติเหมือนกับโรงไฟฟ้าพลังงานลมการเช่าที่ดิน ส.ป.ก. โดยกำหนดให้มีการอำนวยประโยชน์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่
“หากดูในแง่กฎหมาย ส.ป.ก.ในการแก้ไขปัญหาได้ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 ในการดำเนินการ แต่หากไม่มีทางออกก็แล้วแต่รัฐบาลจะพิจารณา ซึ่งจากการหารือกับ 7 ผู้ประกอบการปิโตรเลียมที่ได้รับผลกระทบ ต่างไม่ PANIC กับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่หวังว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนในการแก้ปัญหา เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหายืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2556” นายสราวุธ กล่าว
ทั้งนี้ หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเรื่องดังกล่าว ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงแจ้งให้ผู้รับสัมปทานบนบกทุกรายหยุดกิจกรรมการผลิตปิโตรเลียมที่มีการดำเนินการอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.เป็นการชั่วคราว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศ ประเมินความเสียหายเบื้องต้น คือ น้ำมันดิบลดลง 16,000 บาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง 100 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 47 ล้านบาทต่อวัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้รูปแบบค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมกว่า 26 ล้านบาท/วัน และค่าภาคหลวงที่จะกระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงไปกว่า 3.55 ล้านบาท/วัน
โดยก่อนหน้านี้นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ระบุว่าจะเร่งแก้ไขปัญหาโดยอาจจะมีการแก้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส.ป.ก. มาตรา 19 (12) ให้ศาลปกครองวินิจฉัยแต่ต้องอยู่ในกรอบการปฏิรูปที่ดิน หรือเสนอให้นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ส.ป.ก.เพื่อดำเนินโครงการอื่นได้ เนื่องจากไม่มีระเบียบการคุมการสำรวจและการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.แล้ว รวมถึงทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นทองคำ พลังงาน น้ำมัน หรือโครงการที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ.-สำนักข่าวไทย