กทม.6 มิ.ย.- กรมการจัดหางาน ติวเข้มบริษัทจัดหางานในไทย 220 คน เพื่อให้จัดหางานตามที่กฎหมายกำหนด ย้ำเน้นจ้างงานผู้สูงอายุ คนพิการ
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมนาเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดหางาน สำหรับผู้รับอนุญาตจัดหางานในประเทศ ว่า ปัจจุบันมีผู้จบการศึกษาใหม่ ผู้ว่างงาน ผู้ต้องการเปลี่ยนงานและผู้ถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ซึ่งนอกจากการหางานด้วยวิธีสมัครงานด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ ติดต่อญาติพี่น้อง หรือมาใช้บริการจัดหางานของกรมการจัดหางานแล้ว ก็ยังมีคนมาใช้บริการของบริษัทจัดหางานและสำนักงานจัดหางาน เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคนต่อเดือน ดังนั้น บริษัทจัดหางานหรือสำนักงานจัดหางาน จึงมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มโอกาสให้คนหางานให้มีช่องทางในการทำงาน
ซึ่งการจัดสัมนาในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตาม พรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน 2528 พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังปัญหาที่บริษัทจัดหางานได้รับ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้มานานกว่า 30 ปี ข้อบังคับบางข้ออาจไม่สอดคล้องตามหลักความเป็นจริง
โดยผู้ประกอบการธุรกิจจัดหางานทั้ง 220 คนที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ได้สะท้อน ปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การเก็บค่าบริการจัดหางานร้อยละ 25 ของค่าจ้างเดือนแรก ที่กฎหมายไม่ได้ระบุให้ชัดว่าจะต้องเก็บจากนายจ้างหรือลูกจ้าง ทำให้บริษัทจัดหางานบางแห่งไม่เข้าใจและเก็บกับลูกจ้าง บริษัทจัดหางาน สามารถจัดหางานให้คนต่างชาติที่มีใบอนุญาตถูกต้องเข้ามาทำงานกับนายจ้างในไทยถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ รวมถึงข้อเสนอเรื่องการโฆษณาประกาศหางาน ที่ต้องมีความรวดเร็ว ทันต่อความต้องการของนายจ้าง เพราะเดิมมีความล่าช้า เนื่องจากตามที่กฎหมายกำหนดต้องขออนุญาตจากกรมจัดหางานซึ่งต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างน้อย 3 วัน เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้กรมการจัดหางานได้ทำความเข้าใจและนำข้อเสนอทั้งหมดกลับมาพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด
อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวต่อว่า ในวงสัมมนายังในได้เน้นย้ำสาระสำคัญของ ร่าง พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่จะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางเดือนมิถุนายนด้วย อย่าง การเพิ่มโทษกรณีใช้แรงงานต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตหรือมีใบอนุญาตแต่ทำงานไม่ตรงตามประเภทที่ระบุ มีโทษปรับนายจ้างมากขึ้นจาก 1 แสนเป็น 4 แสนต่อต่างด้าว 1 คน ซึ่งจากการสอบถามบริษัทจัดหางานส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ พร้อมเน้นย้ำให้บริษัทจัดหางานส่งเสริมการหาจ้างงานในกลุ่มผู้สูงอายุ และคนพิการ แก่นายจ้าง ซึ่งแม้ความเป็นจริงบริษัทจัดหางาน สะท้อนว่า นายจ้างส่วนใหญ่ไม่เลือกจ้าง เบื้องต้น ก็ได้แนะนำ กระตุ้นความต้องการจ้างงาน โดยวิถีการให้ความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์แก่นายจ้างว่ามีอะไรบ้างหากจ้างคนกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยมีบริษัทจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ จำนวน 483 ราย อยู่ใน กทม.273 ราย รองลงมา ปริมณฑล 101 ราย ภาคกลาง 58 ราย ภาคเหนือ 30 ราย ภาคใต้ 14 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 ราย.-สำนักข่าวไทย