กรุงเทพฯ 2 มิ.ย. – เจโทรเผยผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นในไทยเกี่ยวกับอีอีซี พบว่า 24 บริษัทลงทุนแล้ว อีก 10 บริษัท เตรียมขยายการลงทุน รัฐบาลเตรียมชี้แจงนโยบายอีอีซี 7 มิ.ย.นี้
นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธาน องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุน (เจโทร) กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า เจโทร กรุงเทพฯ ร่วมกับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยสอบถามสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) เรื่อง “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ” โดยส่งอีเมลส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในคณะกรรมการบริหารของ JCC รวม 48 บริษัท ผลสำรวจเบื้องต้นพบว่าตอบกลับ 28 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 58.3 ในจำนวน 28 บริษัท ระบุว่าขยายธุรกิจไปยังเขตอีอีซีเรียบร้อยแล้วถึง 24 บริษัท อุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุน เช่น อุตสาหกรรมยานรถยนต์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก ค้าปลีก ธนาคารและประกันภัย และในจำนวนนี้ให้ความสำคัญต่อการลงทุนในอีอีซีมากถึง 9 บริษัท โดยวัดจากการมีพนักงานในเขตอีอีซีเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนพนักงานทั้งหมดในประเทศไทย และยังพบด้วยว่าอีก 15 บริษัทตั้งสำนักงานภายในอีอีซีแล้ว โดยมองว่าเป็นการวางตำแหน่งที่สำคัญเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาคที่กว้างขึ้น และในจำนวน 28 บริษัท กำลังพิจารณาจะขยายการลงทุน 10 บริษัทหลายรูปแบบ เช่น ขยายผลิตภัณฑ์ หรือเริ่มสายการผลิตใหม่เพิ่ม และอีก 18 บริษัทไม่มีแผนลงทุนในอีอีซี
บริษัทที่ตอบแบบสอบถามกลับมายังระบุว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี และการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปีหลังจากลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามที่รัฐบาลไทยประกาศออกมา มีประสิทธิภาพรวมถึงการอนุญาตให้การชำระเงินสกุลเงินต่างประเทศได้ ล้วนเป็นประโยชน์ โดยภาพรวมแล้ว บริษัทญี่ปุ่นเห็นว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้ว นับว่าค่อนข้างมีอิมแพคน่าสนใจ
สำหรับความคาดหวังบริษัทญี่ปุ่นต่ออีอีซี 5 หมวดสำคัญ ได้แก่ หมวด 1 เรื่อง คำมั่นสัญญาที่หนักแน่นของรัฐบาลไทย ซึ่งในส่วนโครงการด้านสาธารณูปโภคด้านคมนาคม ทราบว่า มีวิธีการทบทวนแผน PPP เป็นจุดที่สำคัญอย่างยิ่ง อยากให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนมากกว่า หมวด 2 การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพสูง หมวด 3 การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาใช้ หมวด 4 การปรับปรุงระบบกฎหมายและประเด็นปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ และหมวด 5 การปรับปรุงด้านโลจิสติกส์และการเตรียมสาธารณูปโภคอื่น ๆ
ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยกว่า 5,000 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ 1,700 บริษัท 24 บริษัทลงทุนในอีอีซีแล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทที่เหลือจะลงทุนหรือไม่ ขึ้นกับการพิจารณาของบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น และทางเจโทรกรุงเทพฯ จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดงานสัมมนาเรื่องการลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งการชี้แจงจากรัฐบาลไทยเรื่องนโยบายอีอีซีแก่นักลงทุนญี่ปุ่นวันที่ 7 มิถุนายนนี้ โดยเชิญนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมงาน ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการญี่ปุ่นตอบรับเข้าร่วมงานสัมมนาแล้วกว่า 1,000 ราย
ส่วนการที่รัฐบาลไทยเลื่อนการออกพระราชกำหนดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอีก 3 เดือนนั้น ได้ติดตามภาพรวมอีอีซีและหารือรัฐบาลไทยตลอด แน่นอนว่าไม่สามารถแสดงความเห็นได้ แต่อยากจะเห็นความชัดเจนของภาพทั้งหมดและรออยู่
นอกจากนี้ทาง เจโทร กรุงเทพฯ ยังร่วมกับ JCC สำรวจความเห็นบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยถึงความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยล่าสุดความมั่นคงปลอดภัยความหว่งใยของนักลงทุนญี่ปุ่น อยู่ในอันดับที่ 4 ไม่ใช่อันดับแรก อันดับ 1 ที่ต้องการเห็น คือ เสถียรภาพเศรษฐกิจ อันดับ 2 ขั้นตอนศุลกากร และอันดับ 3 สภาวะการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แนวโน้มเศรษฐกิจไทย แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนจากการส่งออก.-สำนักข่าวไทย