ภูมิภาค 31 พ.ค.- รองผู้ว่าฯ อุทัยธานีสั่งตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยจุดเสี่ยงท่วมซ้ำซาก พบระดับน้ำเจ้าพระยาเริ่มสูงจากฝนตกสะสม เช่นเดียวกับอยุธยา-อ่างทองเปิดศูนย์รับมือเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำ
นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยภายหลังนำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่หมู่ 1 ต.ท่าซุง อ.เมือง วันนี้ (31 พ.ค.) ว่า ชุมชนดังกล่าวเป็นจุดเสี่ยงของปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และช่วง 2 สัปดาห์มีฝนตกสะสมมาตลอด ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น บางช่วงเริ่มเอ่อเข้านาข้าวแล้ว 20 ไร่ จากทั้งหมด 700 ไร่ จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายออกโดยเร็ว เพื่อป้องกันข้าวจมน้ำนาน ไม่เช่นนั้นจะยิ่งเสียหายหนัก รวมทั้งเร่งซ่อมแซมประตูบังคับน้ำให้สามารถใช้การได้ตามปกติ เพื่อรองรับฤดูน้ำหลาก และให้ทบทวนแผนการขุดลอกพื้นที่สาธารณะเป็นแก้มลิงไว้เป็นพื้นที่รับน้ำ ในช่วงน้ำหลากในระยะยาว
ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยระดับจังหวัด เพื่อเตรียมรับมือฝนตกชุกในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ โดยนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำชับให้โครงการชลประทานจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตอำเภอบางบาล เสนา และผักไห่ ซึ่งกำลังปลูกข้าวนาปรังและมีน้ำท่วมขังตามท้องนากว่า 40,000 ไร่ เป็นปริมาณมากกว่าเกินที่ชาวนาจะระบายออกได้เอง
นายสุนทร คล้ายศรีโพธิ์ อายุ 59 ปี ชาวนาหมู่ที่ 3 ต.บางชะนี อ.บางบาล หนึ่งในพื้นที่แก้มลิงของภาคกลาง กล่าวว่า ข้าวนาปรังอายุ 1 เดือน เจอฝนกระหน่ำท่วมเกือบมิด หากไม่รีบสูบออกภายใน 2-3 วัน ต้นข้าวจะเน่าตาย แต่อุปสรรคคือ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง ประตูน้ำของกรมชลประทานปากคลองส่งน้ำไม่สามารถเปิดประตูน้ำระบายน้ำจากทุ่งนาลงสู่แม่น้ำได้ เมื่อชาวนาสูบน้ำจากแปลงนาของตัวเองลงคลองกลางทุ่ง ทำให้น้ำเต็มคลอง
ด้านนายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มระดับจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์จากฝนตกหนัก โดยเน้นย้ำการเปิดทางน้ำให้ไหลสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดผักตบชวาขุดลอกคูคลอง การตรวจสอบจุดเสี่ยง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดปัญหาน้ำท่วมขังสามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับวันนี้ (31 พ.ค.) เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ได้ระบายน้ำอยู่ที่ 719 ลูกบาศก์เมตร / วินาที ยังไม่ส่งผลกระทบกับจังหวัดอ่างทอง แต่หากระบายน้ำมากขึ้น 1,700 ลูกบาศก์เมตร / วินาที จะส่งผลกระทบพื้นที่จุดเสี่ยงแรก คือ ต.โผงเผง ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก และ ต.จำปาหล่อ ต.โพสะ ต.ตลาดกรวด อ.เมือง ทางจังหวัดได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำให้เฝ้าระวังและเตรียมรับมือแล้ว.-สำนักข่าวไทย