รร.พูลูแมน สุขุมวิท 30 พ.ค.- คลังถกกรรมาธิการการเงินการคลังฯ สนช. ลดราคาบ้านจากต่ำกว่า 50 ล้าน เหลือ 20 ล้านบาทได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยระหว่างบรรยายพิเศษ “พ.ร.บ.ภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้าง กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” ว่า กรรมาธิการการเงินการคลังฯ สนช.อยู่ระหว่างการทบทวนอัตราภาษีสำหรับที่อยู่อาศัย จากข้อเสนอให้ปรับมูลค่าบ้านลดลงจาก 50 ล้านบาทต่อหลัง ลดลงมาเหลือ 10 ล้านบาทขึ้นไปจึงจัดเก็บภาษี จึงต้องหารือร่วมกันอีกหลายครั้ง จากการสำรวจพบว่าบ้านอยู่อาศัยราคาเกิน 50 ล้านบาท มีจำนวน 11,000 หลัง หากปรับลดลงมาเป็นบ้านต่ำกว่า 10 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี จึงมีฐานภาษีมากขึ้น ขณะที่บ้านอยู่อาศัยทั้งระบบต่ำกว่าราคา 5 ล้านบาท มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 ของระบบ แต่ต้องศึกษาข้อมูลร่วมกันเพื่อสรูปชัดเจน โดยกำหนดให้บังคับใช้ในการจัดเก็บภาษีในปี 2562
ที่ผ่าน ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเพดานอัตราภาษีกําหนดโดยคณะกรรมการกําหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประกอบด้วย 3 อัตราคือ อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วไป ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี อัตราภาษีสําหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองไม่เกินร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี อัตราภาษีสําหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม ไม่เกินร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี
สำหรับแนวทางในการจัดเก็บ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีเครื่องมือในการประเมินสำรวจที่ดิน จากการลงทะเบียนเกษตรกร เช่น การใช้ที่ดินปลูกพืชควรปลูกกล้วยเกิน 200 ต้นต่อไร่ขึ้นไป จึงถือว่ามีอาชีพทำเกษตรเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี จากผู้ไม่มีอาชีพเกษตรกรรม และเมื่อ อปท.แห่งใดความจําเป็นในการพัฒนาท้องถิ่นของตน ให้ออกข้อบัญญัติกําหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากอัตราที่คณะกรรมการฯกําหนดได้แต่ไม่เกินเพดานอัตราภาษีที่กฎหมายกําหนด กรณีทิ้งที่ดินว่างเปล่า หรือไม่ได้ทําประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน ใน 3 ปีแรกให้เสียภาษีใน อัตราไม่ต่ำกว่าอัตราภาษีทั่วไปที่คณะกรรมการฯกําหนดแต่ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี กระทรวงคลังมองว่าเมื่อ กฎหมายภาษีที่ดินบังคับใช้ในอีก 2 ปี ข้างหน้าจะผลักดันให้ภาคเอกชนได้ร่วมกันพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น
นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลพลอยได้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ หรือภาษีลาภลอย ตามข้อเสนอของสภา สปท. นั้น เป็ฯแนวคิดจาก สปท.นำส่งมาให้กระทรวงคลังศึกษาโดยยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เบื้องต้นกำหนดจัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นับเป็นอัตราเทียบเคียงกับต่างประเทศจัดเก็บในปัจจัย และจัดเก็บต่อเมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ หรือลงทุนเพิ่มเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เหมือนกับภาษีมรดกเสียภาษีเมื่อมีการโอน ไม่ใช่การจัดเก็บรายปีระห่างการครอบครอง โดยต้องเว้นระยะห่างจากพื้นที่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าหรือโครงการก่อสร้าง 2-3 กิโลเมตร เมื่อได้ข้อสรุปจึงเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาในขั้นต่อไป
นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคม นายกิติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า 3 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ได้เสนอกระทรวงคลัง เพื่อหารือในกรรมาธิการแปรญัตติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินด้านเกษตร เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า หากเจ้าของทีดินให้เช่าเกษตรกรเช่าเพื่อปลูกพืชทำการเกษตร จะถูกเรียกภาษีในเชิงพาณิชย์หรือไม่ เพราะต้องจัดเก็บเพิ่มถึง 3 เท่า หากจัดเก็บแบบพาณิชย์ เจ้าของที่ดินจะใช้แนวทางการจ้างให้ปลูก ซึ่งจะเกิดลูกจ้างมากกว่าการส่งเสริมเกษตรกร
สำหรับที่อยู่อาศัยเสนอให้กำหนดชัดเจนว่า บ้าน คอนโดสร้างแล้วเสร็จเป็นสต็อกรอการขาย จะพิจารณาว่าเป็นบ้านอยู่อาศัย หรือว่าเป็นเชิงพาณิชย์ เพราะหากตีความว่าเป็นเชิงพาณิชย์จะทำให้ภาระภาษีเพิ่มอีก 3 เท่า จึงเป็นภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการต้องผลักภาระไปยังผู้ซื้อบ้าน นอกจากนี้ยังเสนอกระทรวงคลังพิจารณากำหนดให้ชัดเจน สำหรับการบรรเทาภาระที่ดินเหลือร้อยละ 0.05 ของมูลค่าที่ดิน ซื้อไว้สำหรับการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร ควรเริ่มนับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตการก่อสร้าง ไม่ใช่เริ่มนับตั้งแต่การซื้อที่ดิน เพราะอาจมีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ได้ในภายหลัง
นายอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีกรรมาธิการ สนช. ทบทวน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีทีดินฯ ให้ปรับวงเงินจัดเก็บภาษีจากภาคเกษตรต่ำว่า 50 ล้านบาทได้รับยกเว้น และที่อยู่อาศัยลดลง 50 ล้านบาทต่อหลัง ลดเหลือ 10 ล้านบาทจึงได้รับการยกเว้น เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะบ้านอยู่อาศัยราคาต่ำ 10 ล้านบาท มีประมาณ 3-4 พันหลังต่อปี จึงควรปรับลดลงมาได้ เพราะมองว่าไม่ได้กระทบต่อผู้มีรายได้น้อยมากนัก.- สำนักข่าวไทย