ประจวบคีรีขันธ์ 30 พ.ค.- นักวิชาการดังเห็นด้วยกับ รมว.ทส.มีแผนบูรณาการป้องกันทำลายทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจัง ตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทางทะเล ล่าสุดพบปัญหาปะการังอ่าวไทยถูกขโมยและเรือชนเสียหาย
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์กรณีเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง( สบช.) ที่ 3 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบปะการังจานขนาดใหญ่ถูกกลุ่มผู้ลักลอบขโมยจากแหล่งท่องเที่ยวในทะเลอ่าวไทยรอยต่อประจวบคีรีขันธ์และชุมพรว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทางทะเล โดยระดมเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช เจ้าหน้าที่ ทช. ทหารเรือ ตำรวจน้ำ เจ้าหน้าทุกฝ่ายที่ในท้องถิ่น นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน และ เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันทำงานเพื่อสำรวจติดตาม วิเคราะห์ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัดติดชายทะเลในจุดที่มีความเสี่ยงสูง จากนั้นบูรณาการร่วมกันทำงานเชิงรุกให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งเชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำหน้าที่ป้องกันและฟื้นฟูของ ทช.ที่มีขอบข่ายหน้าที่ทางทะเลเพียงหน่วยงานเดียว
ดร.ธรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีเรือสินค้าขนาดใหญ่สัญชาติปานามาชนแนวปะการังและเกยตื้นบริเวณด้านทิศเหนือของเกาะร้านดอกไม้ ห่างจากชายฝั่งประมาณ 50 เมตร พื้นที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทช.ได้ผลสำรวจแนวปะการังที่เคยสมบูรณ์เบื้องต้น พื้นที่เสียหายวัดความยาวได้ 84 เมตร ความกว้าง 35.8 เมตร รวมพื้นที่ 2,856 ตารางเมตร ขณะนี้เรือที่เกยตื้นได้ย้ายออกจากพื้นที่บริเวณเกาะร้านดอกไม้เรียบร้อยแล้ว หากประเมินด้วยค่าความเสียหายในประเทศอินโดนีเซีย ตร.ม.ละ 42,200 บาท หากคำนวณเป็นเงินไทยเกือบ 120 ล้านบาท แต่การประเมินของไทยจะเป็นไปตามที่ ทช.กำหนด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ต้องดำเนินคดี และขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดอัตราตัวเลขความเสียหายของแนวปะการังที่ชัดเจน ซึ่งความเสียหายต่อ ตร.ม. ไม่ควรมีราคาต่ำกว่าประเทศอินโดนีเซียและต้องคุ้มค่ากับการใช้งบในการฟื้นฟูแนวปะการัง.-ก.005