กรุงเทพฯ 29 พ.ค. –กกพ.เผยเงินบาทแข็งค่า
ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดถัดไป (
ก.ย.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง เหตุมีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง
รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตมากขึ้น หารือ กฟผ.ปรับสำรองไฟฟ้ามาตรฐานใหม่
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.). เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) ว่า สำรองไฟฟ้าของประเทศในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากที่แผนปัจจุบันกำหนดไว้ว่า
ต้องมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ15 ของแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี ) เนื่องจากในขณะนี้โครงการสร้างการผลิตไฟฟ้าของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง
การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน ทำให้เกิดโครงการเอกชนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองไม่ขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้า
(Independent Power Supply : IPS)มากยิ่ง
โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
โดยจะเห็นชัดว่ามีผลทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก)ของประเทศไทยในปีนี้
ต่ำกว่าพีกปีที่แล้ว โดยอยู่ที่ประมาณ 30,303 เมกะวัตต์เท่านั้นจากที่คาดการณ์ปีนี้น่าจะอยู่ประมาณ
32,000 เมกะวัตต์ซึ่งยังต่ำกว่าปีก่อนที่เกิด peak ที่ระดับ 30,972.7
เมกะวัตต์
“ไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่เข้ามาช่วยลดพีก ประกอบกับเทรนด์ขณะนี้มี
ไอพีเอส เข้ามามากยิ่งขึ้นก็จะเห็นได้ว่า
กฟผ.อาจไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อรองรับพีกมากขึ้น
ควรจะปรับตัวเลขสำรองเป็นอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าเมื่อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าระบบ
แต่หากมีปัญหาเช่น ฝนตกต่อเนื่อง ไม่มีแสงอาทิตย์ จะทำอย่างไร
โดยต้องดูเรื่องความมั่นคงทั้งระบบ”นายวีระพล กล่าว
นายวีระพลกล่าวว่า ในเดือน พฤษภาคม 2560
ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งระบบติดตั้งพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม)
และ หลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ประมาณ 3,200 เมกะวัตต์ โดยเป็นระบบไอพีเอส ประมาณ 83
เมกะวัตต์ เช่น โครงการของห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์ ปาร์ก และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศูนย์รังสิต โดยคาดว่า ไอพีเอสจะมีเพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแข่งขันได้โดยเฉพาะช่วงทีโอยู
นอกจากนี้การที่พีกต่ำกว่าคาดการณ์ในปีนี้ และผลจากค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นโดยทุก
1 บาทที่แข็งค่าก็จะช่วยเอฟทีได้ 5-6 สตางค์/หน่วย ก็จะมีผลทำให้แนวโน้มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที)
ในงวดใหม่เดือนก.ย.-ธ.ค.60 มีโอกาสปรับขึ้น
แต่อาจจะไม่มากเท่ากับที่คาดว่าจะปรับขึ้นในอัตรากว่า 10 สตางค์/หน่วย อย่างไรก็ตาม
ค่าไฟฟ้ายังคงปรับขึ้นเพราะราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติขยับสูงขึ้นตามสูตรก๊าซฯในประเทศที่ผันแปรตามราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง
6-12 เดือน โดยเพื่อลดผลกระทบจากแนวโน้มค่าไฟฟ้าขยับขึ้น กกพ.ได้เกลี่ยเงินจากค่าปรับและค่าชดเชยต่าง
ๆ ที่ได้รับจากการบริหารสัญญาจัดหาเชื้อเพลิงและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่าง ๆทุกงวดในปีนี้ราว
2,900 ล้านบาท ทำให้าลดค่าเอฟทีลงได้อีก 4-5 สตางค์/หน่วย
ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าเอฟที
งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.60 ขยับขึ้น 12.52 สตางค์/หน่วย
ตามต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น ส่งผลเอฟที อยู่ที่ –24.77 สตางค์/หน่วย
เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.5079 บาท/หน่วย –สำนักข่าวไทย