กรุงเทพฯ 28 พ.ค. – กรมโรงงานฯ เตรียมวางแผนโครงการศึกษาการกำหนดพื้นที่โซนนิ่งอุตสาหกรรมเขตอีอีซี คาดรองรับการขยายตัวเพิ่มฐานการผลิต Super Cluster และ S-Curve พร้อมเปิดพื้นที่โซนนิ่งภาคการผลิตเพิ่ม 6 จังหวัด
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานฯ มีโครงการศึกษาการกำหนดพื้นที่โซนนิ่งอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปตั้งแต่ละจังหวัดว่าจะมีประเภทใดเหมาะสมกับพื้นที่นั้นบ้าง โดยให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่ ซึ่งผลที่ได้จะนำมาเป็นแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางการจัดเตรียมพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรม และรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่ โดยปี 2560 กำหนดศึกษาพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมจังหวัดเป้าหมาย 6 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และนครพนม
นายมงคล กล่าวต่อว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง พัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษหรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในปี 2561 กรมโรงงานฯ ยังเตรียมวางแผนดำเนินโครงการศึกษาพัฒนาโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง โดยอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และข้อกำหนดพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมุ่งเน้นศึกษาและพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่ม Super Cluster และ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางการจัดเตรียมพื้นที่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
สำหรับการศึกษาจะดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย ครอบคลุมทุกปัจจัยในการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาเมือง อาทิ ด้านข้อมูลศักยภาพของพื้นที่อุตสาหกรรม ข้อมูลด้านอุปสงค์และอุปทานของระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมืองเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดพื้นที่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมในจังหวัดเป้าหมาย รวมทั้งจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมของบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่เหมาะสมดังกล่าวให้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจ โครงข่ายคมนาคม ขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อภาคการผลิต การค้า การลงทุน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการใช้พื้นที่ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีจะรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นรายพื้นที่ตามศักยภาพของพื้นที่นั้น ๆ และเกิดการเชื่อมโยงในระดับ Super Cluster อย่างเป็นระบบ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยแผนพัฒนาโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรมนอกจากเป็นข้อมูลที่ดีแล้วยังเป็นแนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและส่งเสริมผู้ประกอบการที่กำลังจะเริ่มต้นประกอบกิจการต่าง ๆ ในพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว .-สำนักข่าวไทย