ม.ธรรมศาสตร์ 27 พ.ค.-กอร.รส.อบรมจิตอาสา หวังร่วมกันสอดส่องสิ่งผิดปกติ เตรียมเปิดเบอร์โทรศัพท์-แอพพลิเคชั่นไลน์ให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแส ขยายจุดคัดกรองสนามหลวงออกไปอีก 1 กม.
กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง(กอร.รส.) จัดโครงการ อบรมอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยและการแจ้งเหตุ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี พล.ต.สันติพงษ์ ธรรมปิยะ รองแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พล.ต.ต.มนตรี ยิ้มแย้ม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รองผบช.น.)ร่วมเป็นประธานเปิดงาน โดยมีจิตอาสาซึ่งเป็นวินจักรยานยนต์ วินท่าเรือ เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด เทศกิจ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมอบรมจำนวนมาก
รองแม่ทัพภาคที่ 1 แถลงว่า วันนี้(27 พ.ค.) อบรมอาสาสมัครฯ 2 รุ่น วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนร่วมกันเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ในการอำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชนที่มาถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระบรมมหาราชวัง และช่วยกันแจ้งเตือนเมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติ จะได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ กอร.รส.จะเปิดเบอร์โทรศัพท์และแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อให้ประชาชนช่วยกันแจ้งเบาะแส ส่วนกล้อง CCTV จำนวน 13,500 ตัวรอบพื้นที่สนามหลวง ขณะนี้กำลังประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงร้านค้า ประชาชนเชื่อมต่อข้อมูลกับกอร.รส.
ด้าน พล.ต.ท.อำนวย กล่าวว่า ทุกคนที่มาร่วมกันวันนี้ถือว่าได้ร่วมกันถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทย ทั้งนี้ การบริหารจัดการพื้นที่บริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวังมีหลายพันธกิจ ในปัจจุบันกอร.รส.ต้องมาเน้นเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เพราะมีคนไทยจิตใจไม่ปกติ ผิดจากมนุษย์ มาก่อเหตุสร้างสถานการณ์ ซึ่งคนก่อเหตุเป็นประชาชนต้องใช้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกัน
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ในส่วนของการเปลี่ยนและติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมเริ่มดำเนินการแล้ว โดยจะขยายพื้นที่ติดกล้องออกไปอีก 2 กิโลเมตร โดยจะนำกล้องคุณภาพที่ดีที่สุดมาเปลี่ยน ขณะนี้สำรวจจุดติดตั้งหมดแล้ว การขยายจุดคัดกรองประชาชนที่จะเข้ามาในสนามหลวงออกไปอีก 1 .โลเมตร รวมถึงตรวจสอบชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงว่ามีคนเข้า-ออกจำนวนเท่าใด มีคนแปลกปลอมหรือไม่ และจะตรวจสอบอาคารที่พักทั้งหมดที่ให้บริการเช่าพักย่านถนนข้าวสาร
พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (EOD) ให้ข้อแนะนำเมื่อพบเห็นวัตถุต้องสงสัย 4 ข้อ คือ 1.ไม่เคยพบเห็นในบริเวณนั้นมาก่อน 2.ไม่เป็นของใคร เป็นสิ่งของที่ไม่มีเจ้าของหรือหาเจ้าของไม่พบ 3. ไม่ใช่ที่ที่สิ่งของนั้นควรอยู่ และ4. ดูไม่เรียบร้อย เป็นสิ่งของที่ลักษณะภายนอกผิดปกติหรือผิดไปจากความจริง
“เมื่อพบวัตถุต้องสงสัยมี 6 หลักการสำคัญที่ต้องปฏิบัติ คือ 1.ห้ามแตะ ขยับ หรือเคลื่อนย้ายสองห้าม 2. ให้ถามหาเจ้าของ 3. ให้จดจำเวลา รูปร่าง ลักษณะ 4. รายงาน หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 5. กำหนดพื้นที่ปลอดภัยคามขนาดของสัตถุที่พบ และ 6. ให้คนออกจากบริเวณที่พบในระยะที่ปลอดภัยอย่างน้อย 20 เมตร” ผู้กำกับการ EOD กล่าว.-สำนักข่าวไทย