รพ.ศรีธัญญา 24 พ.ค.-อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย ปี 61 วางระเบียบส่งเสริมการสร้างงานให้กับผู้ป่วยจิตเภท ย้ำหากผ่านการรักษา 2-5 ปี สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป เนื่องจากอาการป่วยทางจิตถือว่าเป็นความพิการอย่างหนึ่ง
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดกิจกรรมวันโรคจิตเภทโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 24 พ.ค.ของทุกปี ว่า โรคจิตเภท เป็นกลุ่มโรคอาการทางจิตที่มักพบมากในสังคม โดยข้อมูลปี2559 พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคจิตเวช 400,000 คน ในจำนวนนี้เป็นโรคจิตเภท 288,806 คน ซึ่งจะเห็นว่ามีมากกว่าครึ่งและมีอัตราเข้ารับการรักษาแค่ร้อยละ 50 เท่านั้น
โดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคจิตเภท มักพบว่า มีอาการ ความคิด การรับรู้ อามรณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติ มีความคิดไม่ต่อเนื่อง ประสาทหลอน หลงผิด หวาดระแวง ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ แยกตัวออกจากสังคม ไม่ดูแลตัวเอง ซึ่งการรักษาก็จะนิยมให้ยาเพื่อปรับสารเคมีในสมอง และการดูแลควบคุมพฤติกรรม
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันจัดให้โรคทางจิตเภทถือเป็นความพิการอย่างหนึ่ง ซึ่งในตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดให้กลุ่มโรคนี้ ต้องได้รับการดูแลและจัดหาอาชีพให้เหมาะสมด้วย โดยจะมีการวางแนวทางในปี 2561เพื่อจัดสรรอาชีพให้เหมาะสมกับผู้ป่วยจิตเภท เบื้องต้นเห็นว่าควรเป็นอาชีพที่ไม่มีความสับสนในการทำงาน ได้แก่ ธุรการบริษัท หรือการประกอบอาชีพด้วยตนเอง เช่น ขายกาแฟ หรือ ทำขนม ซึ่งทางกลุ่มโรคพยาบาลจิตเวชมีการฝึกอบรม
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เหมาะสมสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ต้องผ่านการรักษามาอย่างน้อย 2-5 ปี และผ่านการประเมินจากแพทย์แล้ว .-สำนักข่าวไทย