สตง. 22 พ.ค.-ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงไม่พบความผิดปกติโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีน ชี้คุ้มค่างบ – ไม่ใช่จีทูจีปลอม
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พร้อมด้วย นายภัทรชัย ชูช่วย และนางชลาลัย สุขสถิตย์ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน แถลงผลตรวจสอบโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีน S26T ของกองทัพเรือ โดยนายพิศิษฐ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่ากองทัพเรือมีขั้นตอนในการเสนอจัดหาเรือดำน้ำมานานแล้ว แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ จนกระทั่งปี 2558 กองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีน S26T จำนวน 3 ลำ งบประมาณ 36,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยกองทัพเรือได้มีคำของบประมาณแบบผูกพันข้ามปีต่อคณะรัฐมนตรี จนในวันที่ 18 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบก้อนแรก 13,500 ล้านบาทในการว่าจ้างสร้างเรือดำน้ำลำแรก ซึ่งจะต้องจ่ายงวดแรก 700 ล้านบาท หลังเซ็นสัญญา
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ สตง.ตรวจสอบแล้วเห็นว่าการใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท ซื้อเรือดำน้ำจีนไม่ได้ทำให้งบประมาณโดยรวมของประเทศลดลง ไม่กระทบกับหน่วยงาน หรือกระทรวงอื่น ๆ อีกทั้งขั้นตอนการเซ็นสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ก็ไม่ใช่เป็นการลงนามในลักษณะสนธิสัญญา แต่เป็นสัญญาเชิงพาณิชย์ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าไม่ได้อยู่ในข้อบังคับกฎหมายระหว่างประเทศ ตามมาตรา 178 ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ
“จากการตรวจสอบ พบว่ากองทัพเรือได้เชิญผู้แทนบริษัทสร้างเรือดำน้ำ 6 ประเทศ ได้เข้ามานำเสนอเรือดำน้ำให้กับกองทัพเรือจริง โดยมีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของเรือดำน้ำแต่ละรุ่น ซึ่งจีนให้ข้อเสนอที่คุ้มค่าที่สุดเมื่อเทียบกับคุณภาพของเรือดำน้ำและข้อจำกัดด้านงบประมาณของกองทัพเรือ” นายพิศิษฐ์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนข้อสงสัยเรื่องการทำสัญญาแบบจีทูจีนั้น ตรวจสอบแล้วไม่ใช่จีทูจีปลอม เหมือนโครงการรับจำนำข้าว เพราะฝ่ายไทยมีกองทัพเรือเป็นตัวแทนของรัฐบาล ขณะที่บริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. หรือ CSOC มีเอกสารยืนยันว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลจีนจริง และเป็นบริษัทเดียวที่จีนอนุญาตให้เป็นผู้สร้างเรือดำน้ำ ทำให้ตัดปัญหาว่ามีคนกลางในโครงการนี้หรือไม่ เพราะเป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐจริง
“ส่วนการตรวจสอบของ สตง.ที่ใช้เวลา 7 วันนั้น ตรวจสอบถึงเพียงขั้นตอนก่อนลงนามสัญญา หลังจากนี้จะต้องรอข้อมูลจากกองทัพเรือ แล้วจะเข้าไปดูว่าสัญญามีข้อตกลงอะไรบ้าง และทั้งสองประเทศต้องดูแลกำกับทุกอย่างให้เป็นไปตามข้อตกลง โดย สตง.ไทยจะประสานกับ สตง.จีน ทั้งนี้หากพบความผิดปกติภายหลัง ก็สามารถแก้ไขได้ เพราะสัญญาไม่ได้ผูกพันงบประมาณทั้งหมด และหากมีกฎหมายวินัยการเงินการคลังออกมา แม้จะเอาผิดย้อนหลังได้ แต่กระบวนการตรวจสอบ ยังสามารถทำได้ ขอยืนยันว่า สตง.ทำหน้าที่ตรวจสอบทุกโครงการอย่างตรงไปตรงมา อยู่บนข้อเท็จจริง ไม่เอาเกียรติและศักดิ์ศรีมาขาย หรือเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหน่วยงานฟอกขาวให้ คสช.และรัฐบาลนั้น หากจะฟอกขาวก็จะฟอกให้โครงการที่ทำถูกต้องเท่านั้น ถ้าไม่ผิด ก็คือไม่ผิด” นายพิศิษฐ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย