เพชรบุรี 4 พ.ย.-ด้วยพระเมตตาและสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ช่วยให้ชาวบ้านผู้ยากไร้ใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีที่อยู่อาศัย มีที่ทำกิน มีอาชีพที่ยั่งยืน และก่อกำเนิดสหกรณ์การเกษตรแห่งแรกของประเทศ
เมื่อปี 2507 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้องคมนตรีจัดหาที่ดิน พบพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี จึงขอกันออกจากเขตของกรมป่าไม้กว่า 12,000 ไร่ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร โดยมิให้กรรมสิทธิ์ และภายหลังพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชนตามกฎหมาย นับเป็นปฐมฤกษ์ของโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ โดยจัดสรรให้ราษฎรที่เดือดร้อนไม่มีที่ทำกิน จากนั้นให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักและวิธีการของสหกรณ์ เมื่อเข้าใจดีแล้ว “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” จึงถือกำเนิดขึ้น 12 สิงหาคม 2514 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานโฉนดที่ดินผืนดังกล่าวให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมรับผิดชอบดูแล
ป้าขวัญเรือน ประธานกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัย ผู้สืบต่ออาชีพเกษตรกรจากพ่อ ซึ่งเป็นเกษตรกรยุคบุกเบิกปลูกหน่อไม้ฝรั่งเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก่อนจะปลูกพืชผักหลากหลายชนิดในเวลาต่อมา บอกว่าเดิมครอบครัวยากจน แต่ด้วยพระเมตตาทำให้มีที่อยู่ที่ทำกิน มีรายได้ที่ยั่งยืน จึงตั้งปณิธานตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง
ส่วนคนรุ่นใหม่อย่างสุขสันต์ อดีตเคยทำงานในกรุงเทพฯ ก่อนลาออกไปค้าขาย แต่เมื่อมีแม่ค้ามากขึ้นกำไรน้อยลง เขาจึงพาครอบครัวกลับมาทำมาหากินที่บ้านเกิด เริ่มจากทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ ปัจจุบันพื้นที่ 5 ไร่ เต็มไปด้วยแปลงพืชสวนครัว คอกวัว เล้าหมู เล้าไก่ และบ่อปลา สุขสันต์บอกว่า ตนและครอบครัวโชคดีกว่าใคร ที่ได้อาศัยอยู่บนผืนดินของพระราชา
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทำให้ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรในพื้นที่หุบกะพงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทัดเทียมกับคนอื่นๆ ดังพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานแก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เมื่อ 28 มิถุนายน 2518 ตอนหนึ่งว่า เคยบอกเอาไว้เมื่อประมาณ 15 ปีมาแล้ว ว่าเริ่มต้นอย่างไร บ้านเป็นบ้านไม้ พื้นดินธรรมดา ต่อไปเราจะมีบ้านไม้กระดาน เราจะมีพื้นเป็นซีเมนต์ เป็นคอนกรีต แล้วต่อไปเราก็คงมีบ้านเป็นตึกอย่างดี
.-สำนักข่าวไทย