กรุงเทพฯ 5 พ.ย.- พพ. เผยผลศึกษาพื้นที่ศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ทั้งส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้ มากกว่า 10 จังหวัด ด้าน บางจากฯเผยลงทุนโซลาร์ในญี่ปุ่นได้ผลตอบแทนที่ดี
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ทำการศึกษาพื้นที่ศักยภาพในการจัดทำโครงการไฟฟ้าพลังงานลม โดยผลศึกษาเบื้องต้นอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ 3 ภาคทั่วประเทศที่นับเป็นพื้นที่มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพต่อการติดตั้งและผลิตกระแสไฟฟ้าจากลม ต้องมีความเร็วของลมที่ต้องมีค่าเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 6 เมตรต่อวินาที ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีและพื้นที่ดังกล่าวมีสายส่งที่สามารถรับซื้อไฟฟ้าได้
สำหรับพื้นที่จังหวัดในภาคต่างๆที่ถือได้ว่ามีศักยภาพสามารถติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้าจากแรงลมได้ประกอบด้วย3 ภาค 1.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่บริเวณพื้นที่ภูเขา ช่องเขา และพื้นราบ ในจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ดมุกดาหาร นครราชสีมา เป็นต้น 2.ภาคตะวันตกได้แก่ บริเวณพื้นที่ภูเขา ช่องเขา และยอดเขาในจังหวัดตาก กาญจนบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ 3.ภาคใต้ได้แก่ บริเวณพื้นที่ภูเขา ช่องเขาและพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส
นายประพนธ์ กล่าวว่าปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของไทยในช่วงเดือนตุลาคม 2559- กันยายน 2560 มีกำลังการผลิตและเตรียมแผนขายไฟฟ้าเข้าระบบโดยรวมแล้วทั้งสิ้น 144 โครงการ คิดเป็นปริมาณกำลังไฟฟ้าติดตั้งรวม 384.9 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น โครงการที่ขายไฟแล้ว จำนวน 14 โครงการ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 243.52เมกกะวัตต์โครงการที่จะเตรียมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ปี 2559จำนวน2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 139.2 เมกกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่อยู่นอกสายส่ง (OFFGRID) จำนวน 128โครงการกำลังการผลิต 2.18 เมกกะวัตต์
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในงาน The Future of Energy Summit ซึ่งจัดโดยสำนักข่าว Bloomberg New Energy Finance ณ มณฑลเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเร็วๆนี้ โดยระบุว่า การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทในเครือ บมจ. บีซีพีจี เพื่อพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 236 เมกะวัตต์ (กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 194เมกะวัตต์) เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำพลังงานหมุนเวียน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนได้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการสนับสนุนในรูปแบบ Feed-in Tariff และเป็นประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ รวมทั้งมีระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ที่ยาวกว่าในประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตามประเทศญี่ปุ่นมีแผนเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายอย่าง เช่น สิทธิในการงดรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ในบางช่วงเวลา (Curtailment) การยกเลิกใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในรายที่ไม่สามารถทำสัญญาเชื่อมต่อไฟฟ้าได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า และการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยวิธีการประมูลเพื่อกระตุ้นการแข่งขันด้านราคาในอนาคต ซึ่งบีซีพีจีฯ ได้ทำการติดตามในเรื่องนี้และมีการปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสม โดยมีเป้าหมายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานต่างๆ เช่น พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานน้ำ ฯลฯ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ที่ตั้งเป้าหมายลงทุนรวม 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2563-สำนักข่าวไทย
