กระทรวงยุติธรรม 8 พ.ค.- ชาวบ้านจากภาคอีสานร้องกระทรวงยุติธรรมขอความช่วยเหลือ หลังถูกนายทุนยึดบ้าน ยึดที่ดิน
เมื่อเวลา 12.00 น.ตัวแทนชาวบ้านจากหลายจังหวัดในภาคอีสานที่ได้รับความเดือดร้อนจากนายทุนเงินกู้นอกระบบ เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความช่วยเหลือหลังถูกนายทุนยึดที่ดินทำกิน เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
นายวิทยา ดีมี ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านหลายจังหวัดในพื้นที่อีสาน เช่น นครพนม,ร้อยเอ็ด,สกลนคร และ ชัยภูมิ ได้กู้เงินจากนายทุนรายใหญ่ ตั้งแต่ปี 2545 ให้เซ็นสัญญาขายฝากที่ดินและเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด หลังเคยขอความช่วยเหลือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2558 ต่อมากระทรวงยุติธรรม มอบหมายให้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน โดยมีการนัดไกล่เกลี่ยระหว่างนายทุนและลูกหนี้ แต่สามารถช่วยเหลือได้เพียงบางรายที่มีหลักฐานเอกสารชัดเจนเท่านั้น ขณะที่ชาว บ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีความรู้และเอกสาร จึงทำให้หลายคนต้องถูกยึดบ้านและที่ดินทำกิน ไม่สามารถไถ่ถอนที่ดินทำกินจากนายทุนได้ ส่วนชาวบ้านที่พอมีเงินสามารถไปไถ่ถอนที่ดินคืน กลับถูกนายทุนบ่ายเบี่ยงอ้างว่าเดินทางไปต่างประเทศ แต่ขอให้จ่ายดอก เบี้ยไปก่อน นอกจากนี้ยังทำสัญญาขายฝากที่ดินโดยมีการคิดดอกเบี้ยล่วงหน้า 3 เดือน อาทิเช่น บางรายกู้เงิน 5 แสนบาท แต่ได้รับเงินเพียง 4.5 แสนบาท หลังจากนั้นจะเรียกเก็บดอกเบี้ยทบต้นต่อไปเรื่อยๆ
ด้านนางบัวสอน ต้นสุวรรณ ชาวบ้าน ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก จ.นครพนม กล่าวว่า ตนนำที่ดินไปขายฝากกับนายทุนรายนี้เมื่อปี 2554 ในราคา 150,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงเพียง 130,000 บาท สัญญาปีต่อปี และส่งดอกเบี้ยทุกเดือน จากนั้นปี 2555 ได้ขอไถ่ถอนที่ดินคืนแต่นายหน้าอ้างว่า นายทุนเดินทางไปต่างประเทศขอให้เก็บเงินไว้ก่อน และให้จ่ายเพียงดอก เบี้ย ตนก็จ่ายดอกเบี้ยมาตลอด กระทั่ง ปี 2557 กลับพบว่าเงินที่จ่ายไปทั้งต้นและดอกเบี้ย มีมูลค่า 5.5 แสนบาท จึงรู้สึกไม่สบายใจเพราะหนี้จริงไม่น่ามีจำนวนสูงถึงขนาดนั้น เกรงว่าหากจ่ายดอกเบี้ยต่อไป โดยไม่สามารถไถ่ถอนที่ดินคืน จะทำให้ที่ดินตกเป็นของนายทุน ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนในหมู่บ้านตกเป็นเหยื่อของนายทุนรายนี้จำนวนมาก บางรายทนไม่ไหวผูกคอตายก็มี จึงอยากขอให้กระทรวงยุติธรรม ช่วยเหลือเพราะมีหลายรายถูกไล่ที่ ยึดบ้าน และไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน
ขณะที่ พ.ต.อ.ดุษฎี เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว ดีเอสไอ โดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ เคยลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาและช่วยเหลือได้บางส่วน แต่ในชั้นไกล่เกลี่ยและบังคับคดี เป็นเรื่องของจังหวัดที่จะนัดลูกหนี้และเจ้าหนี้มาพูดคุยในชั้นไกล่เกลี่ย ทั้งนี้หลังรับฟังปัญหาของชาวบ้านจะมอบหมาย พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ดีเอสไอ ในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำการตรวจสอบเพิ่มเติมอีกครั้งว่า ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมีจำ นวนเท่าใด และนายทุนรายนี้เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดจริงหรือไม่ ส่วนชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อ ขอให้นำหลักฐาน อาทิ ใบเสร็จรับเงิน เอกสารการขายฝาก มายืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งทราบจากตัวแทนว่าเบื้องต้นมี 200 กว่าคนที่ตกเป็นผู้เสียหาย.-สำนักข่าวไทย