สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 8 พ.ค.-ภาคีเครือข่ายร่วมยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ฉบับแรก ให้สามารถประกาศใช้ในปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ไทย ซึ่งปัจจุบันพบยอดป่วยไขมันในเลือด ความดัน และเบาหวานมากสุด
ตัวแทนพระสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)กรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช. ) ร่วมเสวนาเพื่อแก้ ปัญหาสุขภาวะของพระสงฆ์ และความก้าวหน้าการยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ฉบับที่1
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งพระสงฆ์และฆราวาสจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามแก้ปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์อย่างต่อเนื่อง และขณะนี้กำลังร่วมกันยกร่าง “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ฉบับแรก ของประเทศ เพื่อ เป็นกรอบและแนวทาง ส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศตามหลักการของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ
ขณะนี้มหาเถรสมาคม (พศ.) ได้รับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและกระบวนการยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับที่ 1 แล้ว ตามแผนการทำงาน ทางพศ.จะได้ถวายรายงานเรื่องนี้ต่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกในเร็วๆนี้ และพศ. และสช. จะจัดเวทีระดมความคิดเห็น จากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการภายในปี 2560
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว่า การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ ให้เกิดผลสำเร็จยั่งยืน ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย และสอดคล้องกับพระธรรมวินัย โดยพุทธศาสนิกชน ต้องปรับทัศนคติ ถวายภัตตาหารที่เป็นอาหารสุขภาพมากขึ้น แทนการเลือกโดยคำนึงว่าต้องเป็นอาหารที่ดีที่สุด พระสงฆ์เองก็ต้องเลือกฉันอาหาร และออกกำลังกาย รวมทั้งเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งจากข้อมูลของกรมอนามัย ในการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศ จำนวน 349,659รูป พบว่า ร้อยละ33 มีปัญหาสุขภาพ โดยสถิติอาการอาพาธที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ พบว่าโรคอันดับต้นๆคือ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และต้อกระจก
โดยแต่ละภูมิภาคมีปัญหาด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน เช่น พระสงฆ์ในเขตกรุงเทพฯ มีภาวะไขมันสูงผิดปกติทำให้เกิดภาวะโรคอ้วนมากที่สุด ภาคใต้มีภาวะกรดยูริกสูงและการทำงานของไตผิดปกติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบภาวะโลหิตจาง และพบว่าพระสงฆ์ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ยังเสี่ยงต่อการทำงานของไตผิดปกติถึง8 เท่าและหากมีภาวะอ้วนร่วมด้วยก็จะเสี่ยงต่อการเกิดไขมันติดแล้วเบาหวานมากกว่าธรรมดา 2 เท่า โดยปัญหาส่วนใหญ่ พระสงฆ์จะไม่ยอมไปตรวจสุขภาพ เพราะคิดว่าสุขภาพดีแล้ว
สำหรับประเด็นสำคัญของร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเบื้องต้น ประกอบด้วย 7หมวด ได้แก่ คำปรารภ สถานการณ์ด้านสุขภาพพระสงฆ์ คำนิยาม จุดมุ่งหมายของธรรมนูญสภาพพระสงฆ์ พระสงฆ์กับการดูแลและเสริมสร้างสุขภาวะตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์.-สำนักข่าวไทย