ตรัง 7 พ.ค. – วงเสวนา “คลองไทยหัวใจของชาติ ของประชาชน” มีความเห็นตรงกันอยากให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ เพื่อไม่ให้ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ภาคใต้เสียโอกาส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน จัดเสวนา “คลองไทยหัวใจของชาติ ของประชาชน” จังหวัดตรัง มีประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่อาศัยอยู่บริเวณที่คาดว่าคลองจะผ่านเข้าร่วมงานกว่า 300 คน โดยมี พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานคณะกรรมการศึกษาโครงการคลองไทย เป็นประธาน พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสภาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บนเวทีมีการให้ความรู้ถึงแนวคิดการขุดคลองตามแนวภาคใต้ที่มีมาในอดีตกว่า 300 ปี แต่มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้โครงการไม่สามารถเกิดได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ประกอบกับการค้าระหว่างประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้และประเทศไทยที่จะขุดคลองย่นระยะการขนส่งสินค้าทางเรือ จากเดิมต้องอ้อมช่องแคบมะละกามาเข้าคลองไทย ซึ่งไทยจะเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมทั้งการหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น 2 ฝั่งคลอง รวมกันจะมีมูลค่ามหาศาล อย่างไรก็ตาม งบประมาณการลงทุนโครงการขนาดใหญ่นี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว เวทีเสวนาจึงต้องการให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ โอกาส และอุปสรรคของการขุดคลองไทยเชิงลึกอย่างรวดเร็ว
พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป กล่าวว่า หากมีการขุดคลองไทยจริง คิดว่าประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะเกิดการแข่งขันสูง เนื่องจากจะเกิดประโยชน์กับประเทศและชาวโลก ส่วนเกณฑ์การวัดความคุ้มค่ากับความคุ้มทุนอยู่ตรงไหน ไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับคณะทำงานศึกษาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งความเจริญที่จะต้องแลกกับทรัพยากรธรรมชาติว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะจะต้องศึกษารายละเอียดลึกซึ้งทุกด้าน ทั้งผลกระทบกับวิถีชีวิต สิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนหวงแหนให้กระทบน้อยที่สุดอย่างไรบ้าง
ส่วนการศึกษาคาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ผู้นำในคณะศึกษาดังกล่าว ประกอบกับเป็นเรื่องเก่าที่นำมาปัดฝุ่นใหม่ มีการศึกษาไปแล้วหลายยุคหลายสมัย แต่ต้องล้มพับ ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีการศึกษาพัฒนา รวมทั้งการขุดต่าง ๆ มีการพัฒนาไปเร็วมาก ดังนั้น ถ้ามีการหยิบเรื่องนี้มาศึกษาอย่างจริงจังและวางแผนรองรับจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยและชาวโลก ส่วนขั้นตอน คือ นำข้อมูลความรู้มาให้ประชาชนว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดี แต่เป็นความรู้ในกรอบกว้าง ๆ นั้นเท่านั้น ไม่ใช่เชิงลึก หากประชาชนในพื้นที่เห็นว่าดีก็จะเป็นแรงสนับสนุนสะท้อนความต้องการ ขณะเดียวกันภาควิชาการก็จะต้องศึกษา หากเห็นว่าเป็นโครงการที่มีหลักการและเหตุผลดี ก็สามารถจัดประชุมสัมมนาหรือเสวนา เพื่อให้มีความผสมผสานและมีน้ำหนักเพียงพอที่จะเสนอรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีให้ทำการศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ ที่จะแต่งตั้งในยุค คสช. หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเชื่อว่าจะยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชุดต่อไป
ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการขุดคลองไทยเป็นการแบ่งแยกแผ่นดินอาจจะเป็นช่องทางทำให้ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปหาประโยชน์กับกลุ่มที่สนับสนุน หรือเข้าทางกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น พล.อ.พงษ์เทพ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นความแตกแยก แต่จะเป็นการรวม 2 ทะเลของภาคใต้ระหว่างอ่าวไทย – อันดามันเข้าด้วยกันและเป็นการสร้างความเจริญและความผกผันในพื้นที่ ในด้านการสร้างงาน สร้างโอกาส แต่จะต้องมีการจัดทำแผนรองรับอย่างละเอียดรอบคอบ
สำหรับคลองไทย หรือที่เคยรู้จักกันชื่อ “คอคอดกระ หรือ คลองกะ” เปลี่ยนเส้นทางจากเดิมแนว 5 A มาเป็นบริเวณแนว 9 A เริ่มต้นจากตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง จนถึงฝั่งอ่าวไทย อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีความยาวทั้งสิ้น 135 กิโลเมตร ลึก 25 เมตร และความกว้างคลอง 400 เมตร และภายหลังรัฐบาลมีแนวคิดที่จะก่อสร้างโครงการดังกล่าว แต่ต้องเกิดจากความต้องการของประชาชน ซึ่งโครงการจะขุดผ่าน 5 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,680,000 ล้านบาท ระยะทางยาว 140 กม. กว้าง 300 – 400 เมตร ลึก 30 เมตร ลักษณะเป็นคลอง 2 คลองคู่ขนานไปและกลับ มีการสร้างสะพานแขวน สะพานโค้ง และสะพานเชื่อม 2 ฝั่งคลอง ทั้งทางบกและทางรถไฟ โดยคาดว่าจะทำรายได้ 120,000 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี ใช้เวลา 14 ปีคืนทุน ลดเส้นทางเดินเรือ 700 กม. เพราะช่องแคบมะละกามีปัญหา มีความแออัดมากขึ้น การจราจรทางเรือหนาแน่น 80,000 ลำต่อปี จึงมีแนวคิดก่อสร้างโครงการดังกล่าวขึ้น หวังให้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาค.-สำนักข่าวไทย