กรมการจัดหางาน 4 พ.ค.-กรมการจัดหางาน ตรวจเข้มสื่อสังคมออนไลน์ หลอกคนหางานไปทำงานเกษตร แม่บ้าน พนักงานนวด ที่แคนาดา นิวซีแลนด์ ให้เงินเดือนสูงล่อใจ เตือนอย่าหลงเชื่อคำชักชวนทางออนไลน์
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับเรื่องร้องทุกข์จากคนหางานจำนวนหลายรายว่าได้รับการชักชวนทางเฟชบุ๊คหรือไลน์จากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นบริษัทจัดหางานจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศให้ไปทำงานตำแหน่งพนักงานเกษตรเก็บผลผลิต พนักงานนวด แม่บ้านที่ประเทศแคนาดา นิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ และสเปน มีรายได้ 60,000-150,000 บาทต่อเดือน และยังมีสวัสดิการที่พักฟรี อาหารฟรี ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มีค่าล่วงเวลา มีวันหยุดตามกฎหมายกำหนด โดยต้องเสียเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจำนวน 30,000 – 100,000 บาทต่อคน แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงานตามที่ตกลงแต่อย่างใด
ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ทางทะเบียนคอมพิวเตอร์ออนไลน์กรมการจัดหางานปรากฏว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานของผู้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศแต่อย่างใด และจากการสอบถามข้อมูลของคนหางานที่ถูกหลอกพบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนหางาน โดยนำภาพถ่ายสถานที่ทำงานหรือคำบอกเล่าจากแรงงานที่ไปทำงานแล้วประสบความสำเร็จ จึงทำให้หลงเชื่อยอมจ่ายเงินค่าบริการเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันพฤติการณ์ในการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศเปลี่ยนรูปแบบจากการเข้าพื้นที่ในหมู่บ้านเป็นหลอกลวงผ่านทางสื่อโซเชียล ซึ่งเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา แต่อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางานได้ตรวจสอบเฟชบุ๊คที่มีพฤติการณ์โพสต์ข้อความชักชวนคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 โดยจัดตั้งชุดเฝ้าระวังและตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีพฤติกรรมในการโฆษณา ชักชวน คนหางานไปทำงานต่างประเทศ และใช้สายตรวจออนไลน์คอยตรวจสอบ เฝ้าระวังพฤติการณ์ของขบวนการค้ามนุษย์และกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเข้มงวด ซึ่งผู้ที่หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ในปี 2560 (มกราคม–มีนาคม 2560) มีผู้ร้องทุกข์ 392 ราย ประเทศที่ร้องทุกข์มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย จึงขอเตือนคนหางานคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ศึกษาข้อมูลให้ชัดเจน สามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694.-สำนักข่าวไทย