มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 29 เม.ย.-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ ข้าราชการต้องยึดมั่นหลักธรรมาธิปไตยตามแบบพระราชา ชี้มติเสียงข้างมากอาจนำประเทศพินาศย่อยยับ หากเป็นไปในทางที่ผิดและเป็นอันตรายต่อประชาชน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จัดโครงการปัจฉิมนิเทศ ประจำปีการศึกษา 2559 โดยมีนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บรรยายพิเศษ เรื่อง “ข้าราชการใต้พระปรมาภิไธยและจริยธรรมกับนักกฏหมาย” ให้แก่บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ ว่า ภารกิจต่อไปของบัณฑิตทุกคน คือ รับไม้ต่อจากผู้ที่ทำเพื่อประเทศชาติและสังคม และนับเป็นความโชคดีที่คนไทยมีแบบอย่างในการทำงานของพระราชาผู้ทรงธรรม สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ พระองค์ประกาศแนวนโยบายว่าจะครองแผ่นดินนี้โดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ซึ่งการครองแผ่นดินโดยธรรม คือ การยึดมั่นในหลักธรรมาธิปไตย การถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ใช่ถือนำความคิดของตนเองเป็นใหญ่จนกลายเป็นอัตตาธิปไตย และไม่ได้ถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่เสมอไป จนกลายเป็นโลกาธิปไตย โดยไม่ได้แยกแยะว่าเรื่องใดถูกหรือผิด เพราะหากเสียงข้างมากกำหนดไปในทิศทางที่จะเป็นอันตรายต่อชาวสยาม ก็จะถือว่าไม่ใช่ธรรมาธิปไตย
นายจรัญ กล่าวอีกว่า แม้ว่าการยึดตามเสียงข้างมาก จะเป็นสิ่งที่ปลอดภัย แต่ต้องระวังว่า หากมติข้างมากเป็นไปในทางที่ผิด ต้องติดเบรกห้ามล้อเอาไว้ให้ได้ ไม่เช่นนั้น มติข้างมากจะพาให้ประเทศชาติพินาศย่อยยับได้ และประวัติศาสตร์ของหลายประเทศแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ดังนั้นต้องไม่ปล่อยให้เสียงข้างมาก หรืออำนาจของผู้ปกครองพาประเทศชาติไปในทางย่อยยับ ซึ่งหลักการนี้สามารถเป็นหลักในการตัดสินใจทุกย่างก้าวของชีวิตแต่ละคนได้อย่างดี แต่ปัญหา คือ จะทำอย่างไรที่จะสามารถปลูกฝังหลักธรรมาธิปไตย ซึ่งถือความถูกต้องเป็นหลักในระบบคิดและการตัดสินใจของทุกคน การคิดวิเคราะห์ในเรื่องต่าง ๆ จุดที่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นจุดที่ปลอดภัยและยั่งยืนที่สุด
“ถ้าเราคิดถึงประโยชน์สุขส่วนตัวมากเท่าไหร่ ประโยชน์ที่จะเกิดแก่ส่วนรวมก็จะเหือดแห้งไปเท่านั้น เหมือนสุภาษิตที่กล่าวว่า หากจะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ต้องลืมตัวเองเสียบ้าง ข้าราชการคือคนที่อาสาเข้ามาทำงานของพระราชา เป้าหมายใหญ่ คือ เพื่อประโยชน์สุขของชาวสยามโดยไม่เลือกเชื้อชาติ หรือชนชั้น และต้องเป็นต้นแบบในการทำงานให้แก่พสกนิกรชาวไทย การทำงานตามหลักการนี้ จะไม่ได้เห็นในแบบเรียนทั่วไป แต่จะเห็นได้จากหลักการปกครองบ้านเมืองของพระราชา ที่พระองค์เน้นย้ำทำให้เห็นเป็นแบบอย่างตลอด 70 ปีที่ผ่านมา” นายจรัญ กล่าว
นายจรัญ กล่าวอีกว่า งานของผู้นำ ผู้ปกครอง หัวหน้า จะต้องให้ความสำคัญกับผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนที่อ่อนแอ ดูแลตัวเองได้ยากลำบากในแผ่นดิน ในหมู่คณะหรือองค์กร จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เหมือนที่พระราชาทรงเยี่ยมเยียนราษฎรอย่างทั่วถึง และราษฎรได้รับโอกาสจนกระทั่งดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี เช่นเดียวกับการดูแลสมาชิกที่อ่อนแอที่สุดในองค์กร ไม่ใช่เพียงแค่การหยิบยื่นสิ่งของให้เท่านั้น แต่ปัญหาใหญ่ คือ ทำอย่างไรให้บุคคลเหล่านั้น พ้นจากสภาวะของบุคคลที่ต้องรอรับความช่วยเหลือ แต่กลายเป็นทีมงานที่ให้ความช่วยเหลือบุคคลด้อยโอกาสต่อไป พระราชาทรงมอบสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ การให้ความรู้ความเข้าใจ ต้นเหตุของปัญหา และหนทางแก้ปัญหาให้กับบุคคลเหล่านั้นด้วยวิธีการแยบยล ไม่ใช่นำสิ่งที่คิดว่าดีไปยัดเยียดให้กับคนเหล่านั้น แต่ทำอย่างไรให้เกิดพลังดี ๆ ในความคิดของบุคคลเหล่านั้น จนกลายเป็นผลผลิตที่ดีงาม เป็นการช่วยโดยไม่ต้องช่วย เป็นการให้ที่ยั่งยืนโดยไม่ต้องให้อีกต่อไป
“วันหนึ่งในเวลาอันใกล้ บัณฑิตทุกคนต้องก้าวขึ้นไปและแบกรับการเป็นผู้นำ และอย่าลืมหลักการปกครองแบบพระราชาในเรื่องนี้ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้น ยืนอยู่ด้วยขาของตนเองได้ นอกจากนี้ การที่จะทำงานให้สังคมตามแนวทางของพระราชา ต้องทำด้วยการมองการณ์ไกล เห็นเหตุการณ์ในอนาคตได้ล่วงหน้า ต้องมองเห็นอุบัติเหตุ เพศภัยที่จะคุกคามก่อนที่จะเกิดขึ้น และต้องยับยั้งได้ล่วงหน้า ต้องไม่ใช่ผู้นำที่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุให้กับประชาชนเท่านั้น เช่น การแจกผ้าห่มเมื่อหนาว ไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน แต่ต้องหาวิธียับยั้งและบรรเทาล่วงหน้า เป็นต้น ซึ่งการทำงานตามหลักการนี้ มักไม่เกิดในกระบวนการยุติธรรม ที่เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมก็จะตามจับตัวคนผิดมาลงโทษ ไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดอาชญากรรม เปรียบได้กับต้นไม้ที่หยิบใบที่เน่าทิ้งออกไป ใบใหม่ที่ออกมาก็ยังเน่าอยู่ เนื่องจากรากที่เน่าไม่ได้รับการแก้ไข ขณะเดียวกัน การทำงานต้องยึดหลักความรู้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเองง่าย ๆ แต่ต้องใฝ่รู้ ใฝ่เรียนตลอดชีวิตด้วย” นายจรัญ กล่าว
นายจรัญ กล่าวด้วยว่า เมื่อใดที่นักกฎหมาย ฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีงามของประชาชน เมื่อนั้นก็ถือเป็นนักกฎหมายสายปีศาจ และเมื่อมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ไปล่วงละเมิดทางเพศเยาวชนอายุ 15 ปี แม้เยาวชนจะยินยอม ก็ถือเป็นความผิดร้ายแรง และผิดศีลธรรมด้วย ดังนั้น หากใครกระทำผิด ก็จะต้องรับผิดชอบ.-สำนักข่าวไทย