อุดรธานี 27 เม.ย. – ชาวเมืองใหญ่อุดรธานีสนใจแลสุขภาพ จึงทำให้ “ผักสลัด มโนไฮโดรโพนิกส์” พัฒนาไปสู่ Young Smart Farmmer ขอมาตรฐาน GAP จากกรมวิทยาศาสตร์การเกษตร จนเป็นที่ยอรับของตลาด ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.
ผักสลัด มโนไฮโดรโพนิกส์ ของคุณกาญจนา ต.ทุ่งใหญ่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี เน้นปลูกผักสลัดที่ไม่ใช้ดิน แต่ให้ธาตุอาหารในน้ำวน ยกแปลกปลูกผักสลัด 1 แปลง ใช้พื้นที่ไม่ถึงไร่ แต่กลับได้ผลผลิตเท่ากับการปลูกผัก 1 ไร่ และใช้เทคนิคชีวภาพแบบอินทรีย์ ปล่อยให้กบ เขียด มาช่วยกัดกินแมลงศัตรูพืช สูตรลับสำคัญคือการนำเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพาะเลี้ยงในข้าวสุก แล้วนำมาละลายน้ำ 1 ถุงต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นทั้งใบ ลำต้น บริเวณรอบข้างในช่วงเย็น 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ฉีดได้ทั้งมะนาว มะเดื่อฝรั่ง พืชผักทั่วไป เพราะเชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยป้องกันโรคราใบสนิม รากเน่า โรคแคงเกอร์มะนาว ใบจุด โรคใบเหี่ยว จึงทำให้พืชผักในสวนแข็งแรง ไม่เหี่ยวเฉา สด สะอาด ไม่มีสารปนเปื้อน และเทคนิคป้องกันใบผักรสชาติขม ต้องทำให้รากเย็นจากการไหวเวียนของระบบน้ำ จึงปลูกผักสลัดป้อนตลาดได้ตลอดทั้งปี
คุณกาญจนายังมุ่งเน้นพัฒนาอาชีพ และขอใบรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การเกษตร ก้าวสู่เป็น Young Smart Farmmer ผ่านการใช้เทคนิความรู้ทางการเกษตรจากหลายหน่วยงาน คัดเลือกเฉพาะตลาดสนใจ เช่น เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค บัตเตอร์เฮด กรีนคอร์ส และคะน้าเห็ดหอม ใช้เวลาปลูกเฉลี่ย 38 วัน ป้อนตลาดจนสามารถทำให้ผักสลัด มโนไฮโดรโพนิกส์ เป็นที่ยอมรับของชาวอุดรธานี
วางขายในร้าน Villa Market, UD Town, Top Supermarket เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มจากปกติมัดถุงขาย 12 บาท เพิ่มราคาได้กว่า 90 บาท เมื่อผ่านการคัดแยกผักแบบมาตรฐานสามารถส่งให้กับห้างสรรพสินค้า พึ่งพาเงินกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ในโครงการ 1 เอสเอ็มอีภาคเกษตร 7 แสนบาท และยื่น บสย.ค้ำประกัน จึงเป็นช่องทางให้กับผู้ฝัน อยากให้คนในท้องถิ่นได้ทานผักปลอดสาร
มโนไฮโดรโพนิกส์ ยังส่งเสริมให้ลูกสาว ลูกชาย มาช่วยงานในบ้าน ปลูกฝังให้เป็นเกษตรกรยุคใหม่ไม่ต้องนั่งเล่นเกมเหมือนกับเด็กทั่วไป. – สำนักข่าวไทย