นนทบุรี 26 เม.ย. – อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามั่นใจแนวทางแก้ไขละเมิดลิขสิทธิ์ดีต่อเนื่อง เชื่อไม่เป็นประเด็นหลักคำสั่งพิเศษทรัมป์กีดกันทางการค้าต่อประเทศเกินดุล ย้ำเอกสารของเอกชนสหรัฐปลื้มการแก้ไขปัญหาและยกให้ไทยน่าจะอยู่ในบัญชีจับตามองแทนระดับจับตามองเป็นพิเศษ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ในกรณีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้าของสหรัฐภายใน 90 วัน ตามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Executive Order) แก่ 13 ประเทศที่ได้ดุลการค้าในปี 2559 รวมถึงไทย โดยในส่วนของประเด็นความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจเข้ามาเป็นเรื่องสำคัญที่สหรัฐจับตามอง ในส่วนของกรมฯ ขอเน้นย้ำว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องและมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นประเด็นหลักของการพิจารณาสาเหตุขาดดุลการค้า
นายทศพล กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ตรวจจับอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งแก้กฎหมายใหม่ ด้วยการเชิญเจ้าของสิทธิ์ทั้งในไทยและต่างประเทศมาหารือ โดยขณะนี้แก้กฎหมายในส่วนของการละเมิดทางอินเทอร์เน็ตเพิ่ม เช่น เจ้าของสิทธิ์สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้มากถึง 2 เท่า และยังมีการเร่งจดทะเบียนให้เร็วขึ้น การจัดทำกฎหมายคอมพิวเตอร์เป็นมาตรการใหม่เข้มงวดเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ต้องเน้นย้ำว่ามาตรการใหม่จำเป็นต้องใช้เวลาดำเนินการให้เห็นผลเจ้าของสิทธิ์ต้องเข้าใจมาตรการและใช้ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ กรมฯ ยังเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากภาคเอกชนของสหรัฐอย่างกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (BSA) และสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (MPA) ที่เห็นความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาและปรับระดับบัญชีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย จากเดิมเป็นประเทศที่อยู่ในบัญชีจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นประเทศที่อยู่ในบัญชีจับตามอง (WL) อีกทั้งในการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council: TIFA JC) เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมาการรายงานความคืบหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวแก่ตัวแทนฝ่ายสหรัฐยังมีบรรยากาศเป็นในทิศทางที่ดี
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ารายละเอียดของการพิจารณาตามคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐระบุถึงประเด็นการแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไว้ด้วย แต่จากการดำเนินงานแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการและข้อกฎหมาย ทำให้มั่นใจว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่ถูกหยิบยกมาเป็นเรื่องใหญ่ของการพิจารณาประกอบสาเหตุการขาดดุลการค้า อีกทั้งตอนนี้ยังเห็นสัญญาณบวกที่ได้จากภาคเอกชน ทำให้มั่นใจว่าไทยเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องใช้เวลาที่จะทำให้มาตรการนั้นเห็นผลทางปฎิบัติได้ต่อไป. – สำนักข่าวไทย